บริษัท คอนวูด จำกัด ผู้ผลิตวัสดุทดแทนไม้ชั้นนำ ภายใต้ปูนซีเมนต์ นครหลวง หรืออินทรี ตอบรับเข้าร่วมงานสถาปนิก’60 อย่างเป็นทางการ มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์วัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์เพื่อใช้ทดแทนไม้รูปแบบ Solution System ตอบโจทย์เทรนด์การก่อสร้างยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นความสะดวกในการติดตั้ง ยกระดับความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและการบริการที่เหนือชั้นยิ่งกว่า

คอนวูด เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์โดยเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การตกแต่งอาคารที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันประกอบกับเป็นวัสดุที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตัว ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ของคอนวูดจึงมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับไม้จริงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ ไปจนถึงพื้นผิวสัมผัส ซึ่งให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับไม้ธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง สามารถนำไปใช้งานได้ราวกับไม้ธรรมชาติ ซึ่งมีความแตกต่างจากวัสดุทดแทนไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ที่อยู่ตามท้องตลาดทั่วไป นอกจากนี้ยังมีลักษณะอีกหลายประการที่เหนือชั้นยิ่งกว่าไม้ธรรมชาติ กล่าวคือมีความแข็งแรงทนทานยิ่งกว่า ไม่ลามไฟ หมดปัญหาเรื่องปลวกและเชื้อรา มีรูปแบบและการออกแบบที่ทันสมัยเหมาะสำหรับนำไปใช้ในงานตกแต่งได้แทบทุกประเภท ทั้งการตกแต่งภายใน ภายนอกอาคาร รวมถึงพื้นที่ภูมิสถาปัตย์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของคอนวูดได้รับความนิยมจนเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

คุณกิตติ บุญประคอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทคอนวูด จำกัด เปิดเผยว่า “งานสถาปนิกนับเป็นงานแสดงสินค้าหลักที่คอนวูดเข้าร่วมประจำทุกปี เนื่องด้วยสินค้าของเราเป็นสินค้านวัตกรรมวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์เพื่อใช้ทดแทนไม้ จึงเหมาะสมต่อการนำมาจัดแสดงในงานสถาปนิกที่มุ่งเน้นแสดงสินค้านวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก การที่คอนวูดสนใจเข้าร่วมงานสถาปนิกก็เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆที่เราได้คิดค้นเพื่อตอบโจทย์ให้กับสถาปนิก นักออกแบบ มัณฑนากร ไปยันเจ้าของบ้าน โดยคอนวูดได้ทำการคิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ทุกปี โดยในแต่ละปีเราก็เน้นนำเสนอนวัตกรรมที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหล่าสถาปนิก นักออกแบบ มัณฑนากรที่เป็นกลุ่มผู้ร่วมงานหลักได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น และในแต่ละปีที่เราได้ร่วมงานก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ร่วมงานเสมอมา”

Revised IMG_01991_K Kitti_edit logo

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่คอนวูดนำเสนอจะอยู่ในคอนเซ็ปต์ Solution System โดยคอนวูดได้คิดค้นนวัตกรรมต่างๆที่ผ่านมา อาทิ ไม้พื้น คอนวูด รุ่นที-ล็อค ซึ่งเป็นไม้พื้นที่ให้ความสวยงามเสมือนไม้ธรรมชาติ พร้อมติดตั้งได้ง่าย โดยใช้อุปกรณ์ T-LOCK แทนการเจาะไม้ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนงานเก็บหัวสกรู จึงให้ความสวยงาม โดยไม่ทิ้งรอยหัวสกรูบนพื้นผิว สำหรับผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ที่จะเปิดตัวในงานสถาปนิกครั้งนี้ ได้แก่ ไม้ผนังบังใบ G-series รุ่น ซี-ล๊อคซึ่งจะมีนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยในการติดตั้งเพื่อสร้างความสวยงามและอรรถประโยชน์ให้กับผู้ใช้

แม้ว่าตลาดวัสดุทดแทนไม้ในปัจจุบันจะค่อนข้างทรงตัวไปบ้าง เนื่องจากมีวัสดุหลายประเภทเข้ามาเปิดสู่ตลาดต่อเนื่อง แต่ทางคอนวูดก็ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาสินค้าและการบริการให้เหนือชั้่นกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ หรือการเพิ่มเอกลักษณ์ลงในผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติพิเศษ โดยในปีนี้ทางคอนวูดจะมีทิศทางการตลาดที่เข้าถึงผู้ใช้งาน End User รวมถึงผู้รับเหมารายย่อยมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีรูปแบบบริการใหม่ คือ CONWOOD i-Service ที่เป็นการบริการแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงกระบวนการติดตั้งจนจบงาน และยังมีการรับประกันหลังการขายด้วย

“ขอเชิญทุกท่านเข้ามาชมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ของทางคอนวูดในงานสถาปนิก’60 ซึ่งคอนวูดเองก็มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้เข้าถึงผู้ใช้งานตลอด โดยพยายามที่จะตอบสนองความต้องการ พร้อมปรับปรุงผลิตภัณฑ์ตามรูปแบบการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ให้เป็นหนึ่งตัวเลือกของนวัตกรรมในแวดวงการก่อสร้าง เราพยายามที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้มีความเจริญยิ่งขึ้นไปอีกขั้น” คุณกิตติกล่าวปิดท้าย

พลาดไม่ได้กับผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ผู้นำแห่งนวัตกรรม รวมถึงการบริการของบริษัทคอนวูดที่นำมาเสนอในงานสถาปนิก’60 ซึ่งรับรองว่าต้องถูกใจเหล่าผู้ร่วมชมงานแน่นอน โดยงานสถาปนิกในปีนี้จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 – 7 พฤษภาคม 2560 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

Previous article3 ยักษ์ใหญ่แวดวงอสังหาฯ เตรียมเปิดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 36
Next article“วัสดุก่อสร้างเอสซีจี” วางหมากธุรกิจปี’60 คาดโต1-3% พร้อม พร้อมเปิดแคมเปญ ‘SCG Family Festival’
วีรศักดิ์ ประสพบุญ
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านรถเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม