ต้นไม้ต้นหนึ่งจะเติบโตก็ด้วยความดูแลเอาใจใส่ การหมั่นดูแลรักษา ซึ่งเกิดมาจาก “ความรัก” เช่นเดียวกับการทำงาน งานที่เราทำก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ให้มันค่อย ๆ เติบโต สั่งสมประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อให้งานนั้น “งอกเงย” ออกดอกออกผลไปอย่างสวยงาม

จุดเริ่มต้นของ Mood Space Decor นั้นแทบไม่ต่างจากต้นไม้เลย เริ่มจากต้นกล้าเล็ก ๆ สู่ต้นไม้ที่กำลังเติบโต ที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วย “ความรัก” ในการทำงานนั่นเอง

เพราะความชอบเป็นเหตุ: จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง

คุณเอ๋: พ่อชอบซื้อหนังสือวาดรูปมาให้ ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก แต่ยังไม่มีความคิดว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ก่อนเข้าสู่เอ็นทรานซ์ ก็ไปติวที่ศิลปากร ได้เห็นคณะต่าง ๆ ทั้งจิตรกรรม นิเทศศาสตร์ อินทีเรีย ฯลฯ ได้ซึมซับบรรยากาศต่าง ๆ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร จนตอนเลือกคณะก็เอาหมดเหมือนกัน แฟชั่น เนรมิตรศิลป์ โปรยไปหมด สุดท้ายก็ได้เรียนที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาอินทีเรีย

คุณเอ็ม: เริ่มสนใจและชอบเพราะพ่อเป็นผู้รับเหมา เห็นพ่อทำงานตั้งแต่จำความได้ เลยชอบเวลาเห็นพ่อเขียนแบบ มีหนังสือบ้าน ชอบดูและวาดตาม เริ่มจากวาดภายนอกก่อน พอเริ่มโตขึ้น ด้วยความที่พ่อรับเหมาภายในเลยสนใจการตกแต่งภายในมากขึ้น จนติดคณะอินทีเรีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบในปัจจุบัน)

แค่ก้าวออกมาแล้วลองทำ: การออกจากงานประจำเพื่อจะมาเริ่มต้นเปิดบริษัทของตัวเอง

ตั้งเป้าหมายตั้งแต่ก่อนเข้ามหา’ลัยว่าอยากมีบริษัทของตัวเอง เป็นฝันเล็ก ๆ ที่ยังไม่ชัดเท่าปัจจุบัน (ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์อยู่) ตอนเรียนก็วางแผนไว้ว่าเรียนจบก็จะทำงานบริษัท เก็บประสบการณ์ก่อน อายุสัก 30 ว่าจะออกมาทำเอง ไม่รู้หรอกว่าจะเป็นยังไง แต่อยากออกมาหาประสบการณ์เองโดยตรง คุยกัน และมีเป้าหมายตรงกันว่าอยากมีออฟฟิศเป็นของตัวเอง มีคำถามในหัวตลอดว่าทำไมไม่เปิดบริษัทของตัวเอง “เราไม่จำเป็นต้องรอเงิน อายุเท่านี้ ๆ ค่อยทำ รอให้มีประสบการณ์เยอะมาก ๆ ก่อน เหมือนเราจำกัดตัวเอง เราแค่ก้าวออกมาแล้วลองทำ”

อยู่ในออฟฟิศก็ทำเต็มที่ทุกงาน แต่ไม่ลืมเป้าหมายของตัวเองที่อยากเปิดบริษัทตกแต่ง รับออกแบบอย่างเดียวก่อน แต่ในอนาคต พอเป็นรูปร่างแล้วอาจจะทำครบวงจรไปเลย (รวมถึงรับเหมาก่อสร้างด้วย) เพราะหลาย ๆ ครั้งออกแบบแล้วทำงานร่วมกับผู้รับเหมาแล้วไม่เข้าใจกัน ให้แก้เยอะก็เกรงใจ ดังนั้นถ้าเราสามารถทำให้ครบวงจรทั้งงานออกแบบและโครงสร้าง น่าจะได้ตรงใจเรามากที่สุด

Mood Space Decor คือการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านพื้นที่และการตกแต่ง

มีความคิดอยากออกจากงานเป็นพัก ๆ มันกระตุ้นให้มีไฟ ซึ่งถ้าวางแผนว่าจะทำเอง ก็ต้องมีชื่อของตัวเอง และเมื่อสี่ปีที่แล้วตอนที่เฟซบุ๊กเริ่มมีเพจ เลยมาจองชื่อไว้ก่อน หาคำที่ฟังแล้วเกี่ยวกับงานออกแบบตกแต่ง โดยที่ส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยคำว่า Mood&Tone หรือ Space Decor กัน เรามองว่า Mood แปลว่า อารมณ์ ส่วน Space คือ พื้นที่ และ Decor หมายถึง การตกแต่ง เลยจำกัดความขึ้นมาว่ามันเป็น “การออกแบบพื้นที่พื้นที่หนึ่งให้สื่ออารมณ์ออกมาผ่านสไตล์การออกแบบในที่นั้น” เคยเข้าร้านกาแฟ ซึ่งแต่ละร้านตกแต่งไม่เหมือนกัน มันจะสื่ออารมณ์ต่างกัน ถ้าเข้าไปร้านมืด ๆ ก็จะรู้สึกขรึม ๆ เลยเอาคำมาใช้เป็น Mood Space Decor และไปจองชื่อในเฟซบุ๊กกับอินสตาแกรม

งานแรกของการออกแบบในฐานะ Mood Space Decor

งานคอนโดฯ ของเพื่อนคุณเอ๋ที่ทองหล่อซอย 10 สองห้องนอน หนึ่งลิฟวิ่งรูม สองห้องน้ำ สไตล์ตอนนั้นเป็นโมเดิร์น เพื่อนชอบสไตล์โมเดิร์น เรียบ ๆ สีขาว ดำ น้ำตาล เริ่มวางแปลน เลย์เอาท์ ไม่เอาอะไรที่เขาให้มาเลย รื้อใหม่หมดตั้งแต่เพดานยันฝ้า ตอนนั้นเทรนด์กระจกเงากำลังมา ทางเข้าบุหนัง สไตล์คล้าย ๆ แบรนด์ Poliform เป็นแบบโมเดิร์น เรียบ ๆ ขาว ๆ แต่อยู่ได้นาน  ไม่ได้คิดเงินเพื่อนเพราะอยากทำให้จริง ๆ

งานอินทีเรียคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดในทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมา จึงอยากออกแบบมันให้ดี

คุณเอ๋: ห้องเราเป็นสิ่งที่เป็นตัวเรา ตื่นมาก็เห็นแล้ว มันคือความเป็นอยู่ของเรา เป็นสิ่งที่อยู่กับมันไปตลอด รู้สึกว่าอยากได้บ้านสวย ๆ ห้องสวย ๆ เพราะพ่อเคยทำอยู่ในบริษัท พอเห็นที่ทำงานของพ่อก็ชอบ “งานอินทีเรียไม่ใช่แค่พื้นที่ห้องสี่เหลี่ยมที่คุณต้องคิดว่าทำยังไงถึงจะสวย แต่มันคือสิ่งที่บ่งบอกสไตล์ของแต่ละคนด้วย” จึงคิดว่าทำยังไงให้ลูกค้าชอบและเป็นตัวเขามากที่สุด

คุณเอ็ม: งานออกแบบภายในเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ มันอยู่ใกล้เราที่สุดและเราอยู่ในห้องนั้นนานที่สุด เราเริ่มจากที่ชอบก่อน ชอบบ้านสวย ๆ อยู่ในบรรยากาศที่ดี ๆ เลยทำให้อยากทำมาจนถึงทุกวันนี้

ห้องคือตัวตนของผู้ใช้งาน การออกแบบจึงต้องสะท้อนความเป็นเจ้าของห้องได้อย่างตรงใจ

ต้องการให้ลูกค้าไว้ใจและเลือกบริการเรา จึงต้องใส่ใจทุกรายละเอียด อยากรู้ว่าลูกค้าคิดยังไง แชร์กันว่าเขาอยากได้แบบไหน ชอบอะไร อยากรู้ตัวตนของเขา ดึงความเป็นเขาออกมา ต้องการดูว่าเราและลูกค้าไปในทางเดียวกันมั้ย ให้เข้าถึงเขาได้ เวลาเลือกของต่าง ๆ ต้องคิดแทนเขาว่าเขาชอบมั้ย เลือกให้ออกมาดี เอาตัวเขาผสมกับความเป็นเรา

และสิ่งสำคัญคือเทรนด์ มันมาและมันไป ถ้าสมมติว่าเทรนด์หมดไป ก็จะน่าเบื่อ จึงเลือกเอามาจับและใช้บางส่วนให้มีกิมมิก ให้รู้ว่าออกแบบตอนช่วงไหน เทรนด์อะไรกำลังมา เพราะบ้านหรือทุกอย่างคือการที่เราตื่นมาแล้วเจอมันทุกวัน จัดเกินไปมันจะน่าเบื่อ เลยเน้นไปที่สไตล์ที่ลูกค้าต้องการมากกว่า แต่ถ้าเป็นคาเฟ่ ช็อป เราเล่นเทรนด์ได้เต็มที่เลยเพราะมีการรีโนเวทบ่อยอยู่แล้ว

การออกแบบต้องศึกษาลูกค้า ทำยังไงก็ได้ให้เขาชอบและโอเคกับผลงานเรา” งานที่ลูกค้าไม่ชอบก็มี จนมานั่งถามตัวเองว่าทำผิดอะไร ให้คนอื่นมาช่วยดู มานั่งรีเช็กตัวเอง มาดูว่าทำไมเขาไม่ชอบ เพราะอะไร เขาชอบแบบไหน ถามตัวเองก่อน ถามคนรอบข้างว่างานเราเป็นยังไง ถ้ามันไม่ใช่แบบที่ลูกค้าพูดมาเราค่อยไปมองที่ลูกค้าว่าเขาชอบแบบไหนกันแน่ ขอความชัดเจน บางทีเจอลูกค้าไม่รู้อะไรเลย บอกขอเรียบ ๆ ไม่ค่อยมีข้อมูลจะเน้นไปที่อย่างอื่นแทน เช่น วัสดุ โทนสี เฟอร์นิเจอร์ ให้มีที่ยึดว่าเขาชอบมั้ย จะได้ไปถูกทาง

“หลายคนมักจะบอกว่าตัวเองชอบอันนี้ แต่เราจะหาตัวตนของคุณว่าคุณชอบอะไร คุณไปในแนวไหน จริง ๆ คุณชอบอะไร แล้วเราดึงตรงนั้นของคุณออกมาทำให้มันเป็นสไตล์ในแบบของคุณ”

เพราะผู้ใช้งานคือศูนย์กลางของทุกอย่าง

“งานอินทีเรียท้าทายตรงลูกค้า ความชอบของคนไม่เหมือนกัน มีโจทย์ให้เล่นเยอะแยะไปหมด ขนาดคาเฟ่แต่ละที่ยังไม่เหมือนกัน เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้นจึงเป็นอะไรที่ท้าทายและต้องเรียนรู้กับมันตลอด”

ตอนนี้ Mood Space Decor รับออกแบบทุกอย่าง แต่รับแค่ออกแบบภายใน หลัก ๆ จะเป็นบ้าน คอนโดฯ ซึ่งบางทีมีลูกค้าขอลด ก็ลดนะ อยากทำบ้านให้เขาก็ลด ไม่ได้มองตัวเงินเป็นหลัก ก่อนหน้านั้นตอนที่เริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ก็จะมองเงินเป็นหลัก โฟกัสที่ราคาซะส่วนใหญ่ แต่ช่วงปีที่แล้วมันเหมือนการทดลองแนวคิด ทดสอบและเปลี่ยนวิธีคิดของเรา จนได้รู้ว่าการโฟกัสที่เงิน ทำอะไรมันจะไม่แฮปปี้ ทำให้เราพลาดไปหลายงานเลยเหมือนกัน

“มันคือเงินของเขา เขาสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดได้ เลยคิดว่าทำไมไม่มองกลับกัน ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา ให้เขาไว้ใจเรา และพอเงินมันไม่ใช่ทุกอย่าง เราแค่รู้สึกว่าอยากทำและสนุกไปกับมัน อยู่ ๆ งานจะเข้ามาเอง” ได้เจอลูกค้าที่ดี น่ารัก

บางทีเจ้าของจะให้หาคนรับเหมาให้ หรือเขาก็จะหาเองเพื่อมาบรีฟกัน จริง ๆ เราดูแลตั้งแต่ออกแบบเลย์เอาท์จนถึงหาวัสดุ  หาผู้รับเหมา ระบุแบรนด์ชัดเจน บางคนไม่อินแบรนด์นี้ก็ต้องเช็กให้ แต่วัสดุต้องตรงกับที่เราออกแบบ ถ้าลูกค้าปรับต้องไปดูหน้างานอีกทีว่ามันเข้าดีไซน์ไหม สีมันได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ก็จะอธิบายเหตุผลให้ลูกค้าฟังว่าทำไมถึงเลือกวัสดุแบบนี้ให้เขา เราต้องทำการบ้านมาก่อน และเรื่องซินแส เรื่องนี้ก็สำคัญ (หัวเราะ)

ต้นไม้จะเติบโตก็ต้องผ่านพายุและลมฝน เช่นเดียวกับการทำงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ทั้งดีและร้าย

เคยเจอลูกค้าคนหนึ่งเมื่อปีก่อน อายุ 50 กว่า ตอนแรกให้ออกแบบบ้าน ทำเป็นแค่แบบสามมิติ มีแปลน วางเลย์เอาท์อย่างเดียว และก็ให้ไปออกแบบโรงแรมต่อ ตามด้วยคาเฟ่ ฯลฯ มากมายไปหมด จับฉ่ายเกินไปจนจับงานไม่ถูก สุดท้ายเลยไม่เอาเงินแล้ว ทำไปก็ปวดหัว รีบคุยจะได้ออกมาแล้วไปโฟกัสส่วนอื่น

มีอีกงานที่สิงคโปร์ เจ้าของเห็นจากอินสตาแกรม เป็นคอนโดฯ ลักชัวรี่ 168 ตร.ม. ทั้งชั้นมีห้องเดียว คุยกันผ่านเอเจนท์ หนึ่งสัปดาห์ก็ไปหน้าไซต์งานเลย ปกติทำงานต้องใส่ใจทุกรายละเอียด จำเป็นต้องใช้เวลาในการเก็บดีเทล กว่าจะไปหาวัสดุ ทุกอย่างมันต้องเป็นขั้นบันได แต่งานมันเร่ง เขาต้องการไว ๆ จนมันอัดเกินไป การทำงานเลยเริ่มขัดกัน ไม่ราบรื่น

สไตล์เขาแปลก ต้องการลักชัวรี่ แต่ต้องการความแปลกด้วย สุดท้ายเลยเอาคอนเซ็ปต์ไปคุยกันก่อนจนได้ออกมาเป็น “Into the jungle” แนวป่า ขรึมๆ ซึ่งตัวคอนโดฯ นี้เขาซื้อเพื่อรับแขก มีโต๊ะกินข้าวกลม ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ไม่มีลิฟวิ่งรูม เข้ามามีโต๊ะ 12 ที่นั่ง และ 8 ที่นั่ง แต่ตอนทำงานเขากดดันจนคอนเซ็ปต์หาย อยู่ดี ๆ มีกระจกเข้ามา จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไม่ได้นะ แต่นี่เปลี่ยนซะไม่เหลือเค้าเดิมเลย

สุดท้ายงานจึงไม่ได้สร้างต่อ เพราะต้องติดต่อเจ้าของผ่านเอเจนท์เท่านั้น ทำให้คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยแล้วไม่คลิก อีกทั้งเจ้าของยังเร่งงาน ตัวเราเองบอกว่าอาทิตย์นี้จะส่งได้เท่านี้แต่เขาอยากได้หมดเลย ด้วยความที่งานมีคอนเซ็ปต์ จึงต้องใช้เวลาออกแบบ เลยคิดว่าถ้างานแค่นี้ยังไม่ให้เวลา แล้วขั้นต่อไปจะเป็นยังไง แต่ก็รู้สึกขอบคุณเขาที่เข้ามาให้เรียนรู้ ได้ไปถึงตรงนั้นก็ดีใจแล้ว

จากเหตุการณ์นั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่า “การสื่อสารสำคัญมาก ต้องคุยให้เข้าใจเนื้องานตรงกันก่อน” ไม่งั้นงานคอนเซ็ปต์หรือดีไซน์มันจะไม่ใช่ Mood Space เลย ซึ่งพอออกมาทำเองเลยได้รู้ว่าคนมีอะไรให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เราได้ข้อคิด เจอคนดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นอะไรที่ท้าทายมาก “ประสบการณ์สอนเราได้ มันคือการเรียนรู้ ถ้าไม่งั้นเราจะไม่รู้เลยว่าต้องมาเจออะไรแบบนั้น”

งานบ้านที่ลาดกระบัง เป็นงานปัจจุบันที่สื่อถึงการออกแบบของ Mood Space Decor ได้ดี

บ้านมือสองทรงเรียบ ๆ อยู่ติดริมคลองลาดกระบัง ในซอยเป็นคอนกรีตเหลือบไปทางลูกรัง เป็นบ้านเดี่ยว ได้โจทย์ว่าเขาเบื่อโมเดิร์น อยากได้คลาสสิก ลูกค้าวางคอนเซ็ปต์ว่าอยากได้บรรยากาศ cozy อยู่สบาย ตกแต่งไม่เยอะมาก เพราะบ้านหลังนี้เป็นหลังที่สี่ของเขาแล้ว ใช้เป็นบ้านตากอากาศชานเมือง

พอเข้าไปในบ้านก็มองรอบ ๆ ว่าบริบทรอบข้างเป็นยังไง และมองเลย์เอาท์ ฟังก์ชั่น ซึ่งเราก็มีความสนใจเกี่ยวกับ “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” (ฮวงจุ้ยการตกแต่งภายในบ้าน) มองทะลุเข้าไปเห็นทางออกแม่น้ำเลย จุดนี้ตามหลักตี่ลี่คือไม่ได้ ต้องมีอะไรมากั้น แต่เขาไม่ถือ ไม่มีซินแส เลยเอาตามแบบที่เราพอได้ เขาก็โอเค

ตอนแรกเป็นบ้านโล่ง ๆ มีเสาอยู่กลางบ้าน ไม่อยากให้มีเสาอยู่กลางบ้าน เลยคิดว่าต้องดีไซน์ยังไงไม่ให้มีเสาอยู่กลางบ้าน สุดท้ายเลยทำเป็นตู้เก็บของให้เขา อะไรที่เป็นเสาก็พอกให้เรียบเป็นผนัง เป็นแบบ Classic กับ Cozy ซึ่งเราเรียกมันว่า Classic Contemporary เน้นความคลาสสิกของลูกค้าไว้ และมองหาเทรนด์ในช่วงนี้ ซึ่งจะเป็นพวกงานหวาย สแตนเลส มันมีความ cozy และบ้านเขาก็ติดน้ำ เลยเอางานหวายมาใช้ได้ ให้มีกิมมิกของมัน จะได้ไม่เป็นคลาสสิกที่เลี่ยน ขาว น่าเบื่อเกินไป ลูกค้าเห็นก็แฮปปี้

เราแบ่งบ้านให้ชัดเจนขึ้น แต่ไมได้ปิดกั้นพื้นที่ซะทีเดียว บางทีเขาต้องการเปิดให้รับลม เลยปล่อยให้ลมมันไหลผ่านทั่วพื้นที่ มีใต้บันไดก็ทำให้มีตู้เก็บของ เน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งาน ใช้ประโยชน์กับมันได้ “อย่างแรกในการออกแบบเราเน้นฟังก์ชัน ถึงจะมาทำดีไซน์” คุยกับลูกค้าว่าใช้งานอะไรบ้าง ใช้อะไร ตรงไหนเยอะ ใช้พื้นที่ตรงไหน คุยและถามเขาให้หมด เพื่อกลับมาทำเป็นการบ้านในการวางเลย์เอาท์

และต้องคุยกับลูกค้าว่าจะมีแบบ 1, 2, 3 ไปให้เขาเลือก และจะมีอยู่ในใจอยู่แล้ว เขาจะได้มีตัวเลือก เพราะบางครั้งเขาอาจไม่เห็นภาพชัดเจนในหลาย ๆ ตัวเลือก ซึ่งถ้าเขาเลือกไม่ตรงแบบในใจก็จะปรับ 50-50 แต่จะเอาลูกค้าเป็นหลัก แต่ไม่ได้ตามเขาขนาดนั้น ใส่ในสิ่งที่เราเห็นสมควรว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ แล้วค่อยอธิบายเหตุผลให้เขาฟังว่าทำไมถึงทำแบบนั้น และเราต้องการลบภาพจำ อยากให้คนเข้าใจว่าอินทีเรียไม่ได้แพง ทำยังไงให้คนเข้าถึงได้

“ส่วนใหญ่งานอินทีเรียของ Mood Space ไม่ใช่การ Build in ที่เยอะที่สุด แต่ต้องมีการซ่อนอะไรไว้ ข้างในนั้นจะต้องมีการเก็บของหรือฟังก์ชันที่ใช้ประโยชน์ได้ และต้องมีอะไรให้ไม่เบื่อ มีกิมมิกที่ทำให้มีเสน่ห์ นั่นแหละคือ Mood Space

 

การปรับปรุงการออกแบบหลังช่วงโควิด-19

อาจจะต้องปรับตั้งแต่เลย์เอาท์ บางทีไม่ได้อยู่กับคนออกแบบว่าจะยอมเสียพื้นที่ว่างมากน้อยแค่ไหน ตัวเราพร้อมปรับอยู่แล้ว เพราะการออกแบบของเราอิงลูกค้าเป็นหลัก คงใส่ความเป็น Mood Space ลงไป ปรับในเรื่องระยะห่าง เรามองว่าการป้องกันเชื้อโรคมันเป็นเรื่องของนวัตกรรมมากกว่า วัสดุอาจจะต้องเป็นแบบที่แอนตี้แบคทีเรีย กระเบื้องอาจต้องใหญ่ขึ้น เพื่อลดรอยต่อ กระเบื้องก็ควรเป็นขอบตัดมากกว่าขอบมน กระเบื้องขนาดเล็กอาจเอาไว้ตกแต่งมากกว่าใช้งาน เอาไว้หลังครัวที่ไม่ได้สัมผัสอะไรประมาณนั้น

ท้ายที่สุดความสุขไม่ใช่ตัวเงิน แต่คือการที่ในทุก ๆ วันได้ตื่นมาทำงานที่รัก

คุณเอ๋: ตัวเรามีความสุข สนุกกับการทำงาน ตื่นเช้ามาสดใสและมีพลังทั้งวัน ไม่เบื่อ และสิ่งสำคัญเราไม่ได้โฟกัสที่เงิน ทำแล้วมีความสุข แฮปปี้ งานก็จะมาเอง เจอลูกค้าที่ชอบงานก็รู้สึกขอบคุณเขาที่เลือกเรา เขาชอบในสิ่งที่เราทำให้ก็ดีใจ

คุณเอ็ม: ทำในสิ่งที่รัก แล้วเราจะอยู่กับมันได้นาน เราต้องคอยเตือนสติตัวเองให้โฟกัสไปที่เป้าหมาย ด้วยความที่มีคู่แข่งเยอะ จึงคิดว่าไม่ต้องไปสนใจคนอื่นหรอก เอาเวลามาสนใจเรื่องของตัวเองกับเป้าหมายตัวเองดีกว่า โฟกัสและทำมัน จะทำยังไงให้แก้ปัญหาแล้วไปถึงเป้าหมายนั้นได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ

“ทุกอย่างเกิดจากความชอบ ถ้าไม่ชอบคงมาไม่ถึงตรงนี้ได้” นี่เป็นคำแรกที่คิดในหัวหลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวการเติบโตของ Mood Space Decor ที่ถูกสร้างด้วยความรัก แรงบันดาลใจ ความทุ่มเท และ Passion ของทั้งคุณเอ๋และคุณเอ็มที่มีให้แก่งานที่ทั้งคู่รักและอยากจะตื่นมาทำมันในทุก ๆ วัน ซึ่งถ้าการตกแต่งภายในคือสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของห้องได้ “Mood Space Decor” ก็คงจะเป็นสิ่งที่นิยามความเป็นทั้งคู่ได้ดีที่สุด

 

ติดต่อขอคำแนะนำและเข้าไปดูผลงานที่ Mood Space Decor และ Facebook: Mood Space Decor

Previous articleTHE URGENCY TO SLOW DOWN โปรเจกต์แห่งจินตนาการ
เมื่อยานพาหนะเปลี่ยนร่างเป็นกระถางต้นไม้
Next articleสวทช. หนุน จ.กระบี่ ต้อนรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่ ด้วยนวัตกรรมความปลอดภัย
สร้างความมั่นใจ และสะอาด หลังคลายล็อกดาวน์
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว