ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2558) เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีสภาพอากาศแปรปรวน ฝนที่ตกน้อยมากจนเขื่อนและแม่น้ำแห้งขอด รวมถึงมีหน้าหนาว แต่ก็ร้อนไม่ต่างจากช่วงเวลาอื่น แต่ปรากฏว่าขณะที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ กรุงเทพมหานครของเราในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 กลับมีสภาพอากาศเย็นราวกับหลาย ๆ เมืองในยุโรป (15 องศา) ยังไม่รวมถึงลมที่รุนแรงและอะไรแปลก ๆ อีกมากมาย

รูปแบบภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกตินั้น ได้กระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ดังที่จะเห็นได้ชัดจากการสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เราใช้เพื่อผลิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ เราจะได้เห็นการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ตามบ้านที่อยู่อาศัยควบคู่กับ Smart Grid บ้านที่มีระบบสร้างพลังงานและสำรองพลังงานของตัวเอง การมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ซึ่งหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และยิ่งหากท่านผู้อ่านได้ประกอบธุรกิจหรือทำงานในวงการออกแบบและก่อสร้างแล้ว การติดตามประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการสร้างเทคโนโลยีใหม่และการออกแบบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งในเรื่องการออกแบบอาคารนั้น เราก็จะเห็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อที่จะทำให้อาคารประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากขึ้น รวมถึงมีการสร้างเกณฑ์อาคารเขียวและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่หลายเกณฑ์ให้ได้เลือกยึดถือเอา

อีกด้านหนึ่งก็มีผู้เสนอแนวคิดของการออกแบบที่สอดคล้องกับธรรมชาติออกมาหลายทาง ซึ่งผมอยากจะขอนำเสนอแนวคิดของ Biophilic Design ที่หากแปลเป็นไทยได้อย่างง่ายที่สุด ก็คือการออกแบบที่ผสานเข้ากับชีวิตอื่น ๆ ซึ่งชีวิตในที่นี้ก็คือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ทั้งพืช สัตว์ และจุลชีพอีกมากมาย ฟังดูแล้วลึกซึ้งหรือไม่ เรามาดูกันต่อไปนะครับ

คำว่า Biophilic นั้น มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า Bios ที่หมายถึง “ชีวิต” หรือเกี่ยวข้องกับชีวิต มาผสาน (หรืออาจจะสมาส) กับคำว่า Philic ที่มาจากคำภาษากรีกเช่นกัน คือ Phila ที่หมายถึงความรักในลักษณะฉันมิตร หรือเท่าเทียม “Affectionate, Regard, Friendship” Usually “between equals.” หรือแปลอีกทีอาจจะแบบ “กัลยาณมิตร” ประมาณนั้นน่ะครับ และหากแปลตรงแบบง่าย ๆ Biophilia ก็หมายถึงความรักในชีวิต หรือ “love of life” นั่นเอง

Musée_du_Quai_Branly_April_30,_2008_n2
Musée du Quai Branly by Lauren Manning 

“Biophiliais the innately emotional affiliation of human beings to other living organisms. Innate meanshereditary and hence part of ultimate human nature.”

Edward O. Wilson

forest-graphic-watercolor

The Forrest Graphic; the visual theme of the SFCS are inspired by biophilic design principles.
From: www.cargocollective.com

แนวคิดของ Biophilic Design เริ่มต้นจาก Edward Osborne Wilson นักชีววิทยาชาวสหรัฐ ที่ได้นำเสนอคำว่า Biophilia ในหนังสือชื่อเดียวกันนี้เองที่ออกจำหน่ายตั้งแต่ปีค.ศ. 1984 โดยนิยามคำว่า Biophila ไว้ว่า ความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับชีวิตอื่น ๆ (The Urge to Affiliate with Other Forms of Life) ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง และการที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเป็นผลผลิตของธรรมชาติ ก็จะมีความเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเป็นธรรมชาติ (หมายถึงไม่ต้องสอนกัน) ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะมีความเอ็นดูรูปร่างหน้าตาของทารกหรือสัตว์ที่ยังเล็กซึ่งมีลักษณะร่วมกันได้แก่ มีตาโต ตัวเล็ก เป็นต้น ซึ่งสมมุติฐานของ Biophilia นี้ได้เป็นแรงผลักดันทางบวก ทำให้เรารักสัตว์ และเป็นผลให้อัตราการอยู่รอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูงขึ้นด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอีกอย่างก็คงไม่พ้นทาสแมวทั้งหลาย ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อแมว

ย้อนกลับมาเมื่อนำเอาแนวคิด Biophilia เข้ามาผสานกับการออกแบบสถาปัตยกรรม คำนิยามของ Biophilic Design จึงไม่ใช่แค่การออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ หรือการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นแนวทางของการออกแบบโดยสอดประสานวิถีชีวิตของคนที่ใช้อาคาร ไม่ว่าจะอยู่อาศัย ทำงาน เรียนให้เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ เชื่อมโยงคนให้เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ โดยมองธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรม

ผลที่ได้จากการใช้แนวคิด Biophilia เพื่อการออกแบบนั้น ทำให้เราได้โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาตัวได้เร็วยิ่งขึ้น โรงเรียนที่นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีรวมถึงสังคมที่เพื่อนบ้านรู้จักกัน และผลที่สำคัญที่สุดคือความสุขของผู้ที่อาศัยใช้งานสถาปัตยกรรมนั่นเอง ซึ่งในคอลัมน์นี้ครั้งต่อไป ผมจะขอนำเสนอกรณีศึกษาของแนวทางการออกแบบ BiophilicDesign ให้แก่ท่านผู้อ่านได้เป็นความรู้กันครับ

นิตยสาร Builder Vol.30 April 2016

อ่าน:
Biophilic Design (ตอนที่ 2)
Biophilic Design (ตอนที่ 3)

Previous articleสรุปตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ไตรมาส 1 พ.ศ. 2559
Next articleAB&W INNOVATION เปิดตัวนวัตกรรม ประตูบานเลื่อนรุ่น “PANORAMA” สูงได้ถึง 6 เมตร!
ดร.อรช กระแสอินทร์
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์