แน่นอนว่ากว่าจะโตมาได้ถึงทุกวันนี้ เราทุกคนย่อมต้องมีวีรกรรมหรือเรื่องราวสุดหลอนสมัยเรียนเกี่ยวกับครูกันมาไม่มากก็น้อย แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจมีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับครูที่เรารักด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว “ครู” ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิตการเป็นสถาปนิก กลายเป็นต้นแบบของเราทั้งในชีวิตการเรียน รวมไปถึงชีวิตจริงด้วยเช่นกัน

เรามักจะลืมไปว่า “ครู” ก็เป็นคนธรรมดาที่มีข้อบกพร่อง และสามารถทำผิดพลาดได้เช่นกัน กับครูบางท่าน เราอาจรักที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากตัวเขา แต่กับบางท่านการเรียนรู้จากเขา มันกลับยาก เพราะครูแต่ละท่านก็มีวิธีการสอนที่แตกต่างกันไป และสิ่งที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็คือ ลักษณะนิสัยของครูทั้ง 5 แบบที่เหล่านักเรียนสถาปนิกจะต้องรับมือ และสิ่งที่ควรจะซึมซับจากพวกเขาแต่ละคนให้ได้มากที่สุด

1. ครูสุดโหด ที่ใครเห็นเป็นต้องวิ่งหนี

1

ในห้องเรียนสถาปนิก มักจะมีครูบางคนที่มีบุคลิกน่ากลัวมาก เรียกได้ว่า น่ากลัวตั้งแต่แรกเห็นจนถึงนาทีสุดท้ายเลยก็ว่าได้ แม้ว่าความกลัวจะทำให้คุณส่งงานตรงเวลาทุกครั้ง แต่เมื่อไรก็ตามที่กลัวจนเข่าสั่น ก็อย่าหวังว่าจะมีแรงเหลือไปอธิบายอะไรให้ครูเขาฟังหรอก เพราะถ้าหากจะมีครูซักคนที่ทำเด็กร้องไห้ได้ ก็คงเป็นครูประเภทนี้นั่นแหละ

ครูประเภทนี้สำคัญอย่างไร: เชื่อมั้ยว่า สักวันคุณจะต้องเจอคนที่น่ากลัวกว่าครูประเภทนี้อย่างแน่นอน และเมื่อเวลานั้นมาถึง คุณจะระลึกได้ว่าการอยู่กับครูที่ทำให้เรากลัวจับขั้วหัวใจได้ มันเป็นเกราะชั้นดีที่ช่วยให้การเจอกับหัวหน้าหรือลูกค้าโหด ๆ ที่น่ากลัวกว่านี้ร้อยเท่าในชีวิตจริง กลายเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ไปเลย

2. ครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์

2

ครูประเภทนี้น่าจะเป็นครูที่ใครหลายคนอยากเอาเยี่ยงอย่างในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การแต่งกาย การสเก็ตซ์ภาพผลงานชิ้นโบว์แดง ที่พวกเขาทำออกมาได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย หรือแม้แต่การฟังไอเดียของคนรอบข้าง และนำไปปรับใช้กับตัวเองให้ดีขึ้นกว่าที่ฟังไปเป็น 10 เท่า ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้น่าจะเป็นคุณสมบัติของคนที่คุณอยากสนิทด้วยมากที่สุด

ครูประเภทนี้สำคัญอย่างไร:คนดีหรือแบบอย่างที่ดี” ไม่ได้หมายถึงแค่ผลงานทางสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง “คน” ที่เราพบเจอในชีวิตจริงด้วยเช่นกัน และโอกาสในการเรียนรู้บางสิ่งจากคนเหล่านั้นที่เราชื่นชอบ จะทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ และการวางอนาคตของเราก็จะเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น

3. เรื่องอะไรไม่รู้ ครูขอบ่นไว้ก่อน

3

ช่วงแรกที่เจอ ครูประเภทนี้จะดูเป็นมิตรมาก แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ จนเขารู้ว่าคุณเริ่มปั่นงานในขณะที่เหลือเวลาอีกแค่หนึ่งอาทิตย์ก่อนวันกำหนดส่งเท่านั้นแหละ… หรือเมื่อเขาบ่นคุณเรื่องงานซ้ำ ๆ ทั้งที่คุณพอใจในผลงานของตัวเองแล้วก็อีกนั่นแหละสรุปก็คือ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร หรือพยายามทำงานให้ดีสักแค่ไหน ครูประเภทนี้ก็ยังคงไม่พอใจอยู่วันยังค่ำ

ครูประเภทนี้สำคัญอย่างไร: ทุกคนที่เจอคงจะเกลียดครูแบบนี้แน่ ๆ แต่หากลองคิดดู ๆ คุณอาจต้องขอบคุณพวกเขาด้วยซ้ำ เพราะพวกเขานี่แหละที่เป็นแรงผลักดันชั้นดีให้คุณทำในสิ่งที่ฝัน และยังเห็นศักยภาพในตัวคุณ คอยผลักดันให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ ให้คุณมีอนาคตไกลกว่าคนที่มีความสามารถแต่กลับไม่กระตือรือร้นเลยสักนิด

4. ครูน่าเบื่อ แต่อบรมจนได้ดี

4

ใช่ว่าครูทุกคนจะมาคอยกระตุ้นให้คุณทำนู่นนี่อยู่ตลอดเวลา ครูประเภทนี้นี่แหละที่จะไม่ทำ แต่ถึงเขาจะไม่กระตุ้น ก็ใช่ว่าคุณจะเอาชนะพวกเขาไปได้ตลอด เพราะไม่ว่าจะพูดอะไรกับเขาไปก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่รับรู้ และจะพูดตอบกลับแบบจับใจความอะไรไม่ได้ เรียกได้ว่าคุณไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้เลยจริง ๆ

ครูประเภทนี้สำคัญอย่างไร: ข้อดีของครูประเภทนี้ก็คือ หากได้เรียนกับเขา คุณจะได้รับโอกาสในการทำงานแบบไม่ต้องมีใครมาแนะนำหรือคอยมาวุ่นวายอยู่ใกล้ ๆ คุณจะสามารถทำงานให้สำเร็จท่ามกลางปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ได้ หรืออาจได้รับคำแนะนำดี ๆ จากนักเรียนคนอื่น ๆ อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญในการเรียนรู้หลักการทำงานท่ามกลางปัญหา หรือหลักการทำงานให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง ขณะที่คนอื่นล้มเหลวในการสร้างชิ้นงานนั้น ๆ

5. ครูสุดฮอต คุณสมบัติพ่อของลูก

5

มักจะมีครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมกว่าคนที่เหลือ และเขาก็จะที่ฮอตมากในบรรดาเด็กนักเรียน แต่ครูประเภทนี้กลับทำให้นักเรียนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่กับการหาคำตอบว่าครูของพวกเธอยังโสดอยู่หรือไม่ และที่แย่กว่านั้นก็คือ เด็กนักเรียนจะใส่ใจเรื่องนี้มากกว่าจะตั้งใจฟังครูพูดเรื่องคานคอนกรีตที่สุดแสนจะมีสาระเสียด้วยซ้ำ

ครูประเภทนี้สำคัญอย่างไร: ครูหน้าตาดี ก็เหมือนชิ้นงานสถาปัตยกรรมที่เราสนใจ เมื่อสนใจ ก็จะมองให้ลึกในทุกรายละเอียดที่เป็นตัวเขา


Source: archdaily

Previous articleใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ บ้านทรงกระโจม ผสมผสานความเรียบง่ายระหว่างไม้กับคอนกรีต
Next articleอนันดาฯ ร่วมกับ TCDC สร้าง TCDC COMMONS ห้องสมุดการออกแบบการสื่อสารตอบรับคนรุ่นใหม่
ณัฐธิกานต์ อัจฉริยบดี
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านงานออกแบบ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม