มีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน แต่ติดว่าต้องนำเสนอผลงานมีการประชุมวิชาการเสียก่อน ซึ่งหลังจากได้นำเสนอไปแล้วผมก็ขอนำงานวิจัยเล็ก ๆ ของผมมาถ่ายทอดให้แก่ท่านผู้อ่าน เผื่อมีประโยชน์ต่อการออกแบบของท่าน

โดยเมื่อราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้ทำการทดลองสำรวจผ่านอินเตอร์เน็ตโดยสอบถามประชาชนทั่วไปถึงสิ่งที่ทำให้เขารับรู้ได้ว่าอาคารที่เขาเข้าไปใช้งานหรือผ่านไปนั้น เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมหรือที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า ‘อาคารเขียว’ นั่นเอง

แล้วประชาชนคนทั่วไปจะรู้ได้อย่างไร? อาคารหลังหนึ่งจะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดทรัพยากรและพลังงาน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ดีต่อโลก แต่ถ้าไม่ติดป้ายแล้วเราจะรู้หรือไม่ว่าอาคารนั้นเป็นอาคารเขียว คำถามนี้เองเป็นคำถามที่นำมาสู่งานวิจัยของผมคือ “การรับรู้ความเป็นอาคารเขียวของผู้ใช้อาคาร” เพื่อที่จะหาว่าผู้ใช้อาคารทั่วไป เขาทราบได้อย่างไรว่าอาคารนั้นคืออาคารเขียว

การศึกษานี้ไม่ได้ศึกษาเอามันหรือสนุกสนานแต่อย่างใด ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะทราบคือ รูปแบบองค์ประกอบ หรือคุณสมบัติอะไรของอาคารที่จะบ่งบอกความเป็นอาคารเขียวได้ ซึ่งผมเองเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการออกแบบอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่ต้องการแสดงความเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการจะสื่อสารคุณค่าของความเป็นสีเขียวของอาคารนี้ไปสู่สาธารณะ

ทำไมน่ะหรือ เพราะคุณค่าความเป็นอาคารเขียวนั้นไม่ได้แลกมาด้วยเงินถูก ๆ แต่ต้องใช้จ่ายหลายอย่างทั้งการจ้างที่ปรึกษา การถูกเกณฑ์อาคารเขียวบังคับให้ต้องติดโน่นเติมนี่ในขั้นตอนการก่อสร้าง งานระบบที่แพงกว่าระบบอาคารทั่วไป จนถึงวัสดุก่อสร้างหลาย ๆ อย่างที่ต้องมีความพิเศษ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนสำคัญ ซึ่งจากการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบต้นทุนการก่อสร้างระหว่างอาคารทั่วไปกับอาคารเขียว โดยคุณกมลทิพย์ เพียรพิกุล จากนิด้า พบว่าอาคารเขียวมีต้นทุนสูงกว่าอาคารทั่วไปเฉลี่ย 17%

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของต้นทุนย่อมส่งผลต่อการลงทุนอย่างมาก การที่ต้นทุนสูงขึ้นก็นับเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากไปด้วย ทั้งนี้เพราะหากต้องการให้โครงการมีจุดคุ้มทุนในเวลาเท่าเดิม รายได้ที่โครงการต้องการนั้นจะไม่ได้เป็นแค่เพิ่มขึ้น 17% เท่านั้น แต่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ทางเดียวที่จะทำให้โครงการสามารถเกิดขึ้นและทำกำไรได้นั้นก็คือ ต้องมีราคาต่อพื้นที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเช่าหรือจะขาย นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้น มีค่าเช่าหรือราคาขายที่สูงกว่าอาคารปกตินั่นเอง

อย่างไรก็ตามการที่อาคารมีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ขายได้ยากขึ้น ผู้พัฒนาโครงการจึงต้องใส่ใจต่อการออกแบบอาคารทั้งภายในภายนอก จนถึงการใช้วัสดุตกแต่งและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานอาคารที่ดูมีระดับ (Premium) มากกว่าอาคารทั่วไป ซึ่งในฐานะนักออกแบบ เราควรจะเพิ่มหรือใส่ใจต่อการมีอะไรที่ทำให้ผู้ใช้อาคารเห็นว่าอาคารของเราได้แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในงานวิจัยผมได้ศึกษาองค์ประกอบของอาคารที่ผู้คนสามารถสัมผัสได้ง่าย เช่น ตามองเห็นหรือรู้สึกร้อนเย็น โดยตัดเรื่องทางเทคนิคซึ่งเราไม่ได้รับรู้เมื่อใช้อาคาร อาทิ ฉนวนกันความร้อน ระบบปรับอากาศ และได้สร้างแบบสอบถามเพื่อให้ผู้ตอบได้เลือกองค์ประกอบประมาณ 30 อย่างของอาคารที่ทำให้เขารู้ว่าอาคารที่เขาเคยได้เข้าไปหรืออาคารที่เขานึกถึงเป็นอาคารเขียว แล้วส่งแบบสอบถามทางอินเตอร์เน็ตในระยะเวลาสั้น ๆ คือวันที่ 4 – 8 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบทั้งสิ้น 125 คน

ผลที่ได้นั้นพบว่าผู้ตอบได้เลือกองค์ประกอบที่ทำให้เขารู้หรือคิดว่าอาคารนั้นเป็นอาคารเขียว 10 อันดับแรกได้แก่ 1. แสงจากภายนอก (85 คน) 2. ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ (82 คน) 3. มีถังขยะสำหรับแยกขยะ (81 คน) 4. ใช้หลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (79 คน) 5. มีต้นไม้ในพื้นที่รอบอาคาร (69 คน) 6. มีป้ายบอกแสดงความเป็นอาคารเขียว (67 คน) 7. ใช้ก๊อกน้ำเปิดปิดอัตโนมัติ (65 คน) 8. ปรับอากาศเย็นพอเหมาะ (61 คน) 9. ติดตั้งโซล่าร์เซลล์หรือกังหันผลิตพลังงาน (60 คน) และ 10. ใช้วัสดุก่อสร้างรีไซเคิล (59 คน)

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะค้านต่อผลที่ได้ ซึ่งผมเองก็คงไม่มีอะไรจะตอบนอกจากผลที่ได้เป็นอย่างนี้ องค์ประกอบหลายอย่างที่ให้เลือกในแบบสอบถามที่ตอนแรกผมคาดว่าน่าจะได้รับเลือกมาบ้าง เช่น สวนแนวตั้งหรือมีที่จอดจักรยาน กลับเป็นองค์ประกอบที่คนทั่วไปไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นอาคารเขียวสักเท่าไหร่

 

นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

Previous articleบ้านสวยได้บุญ คุ้ม 4 ต่อที่ โฮมโปร ทุกสาขาทั่วประเทศ!!
Next articleร่องรอยชีวิตวันวาน ณ บ้านเสานัก
ดร.อรช กระแสอินทร์
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์