กลางเดือนสามจนถึงต้นเดือนสี่อย่างนี้ ลูกหลานชาวจีนถึงเวลารวมตัวกันเพื่อเดินทางมาสุสานตามต่างจังหวัด ไหว้บรรพบุรุษในเทศกาล “เชงเม้ง” ใครที่ไปอยู่เป็นประจำ รู้กันดีว่าเราต้องเตรียมข้าวปลาอาหาร หมู เห็ด เป็ด ไก่ กระดาษเงินกระดาษทอง และชุดกระดาษแทนเครื่องแต่งกาย เงินทอง เพื่อเผาไปเป็นทรัพย์สินให้ผู้วายชนม์ได้ใช้ในโลกหน้า

ความเชื่อ คือสิ่งที่ผู้คนยังคงทำสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมที่ต้องเดินควบคู่กันไป ส่วนประกอบที่มีทั้งหินและปูนแกะสลัก เสา ป้าย ฯลฯ ต้องจัดวางตามตำแหน่งให้ถูกต้อง เพราะเราเชื่อกันว่าสถาปัตยกรรมเพื่อบรรพบุรุษไร้ลมหายอย่าง “ฮวงซุ้ย” มีผลต่อระบบความสัมพันธ์และความรักใคร่ของลูกหลานภายในบ้าน ทุกอย่างจึงต้องเลือกสรรไว้อย่างเหมาะเจาะ ทั้งความแข็งแรง สีสัน และการซ่อมบำรุง

เนื่องจากฮวงซุ้ยมีส่วนประกอบหลายส่วน BuilderNews จึงขอยกวัสดุส่วนที่หลายคนมองข้ามในเชิงสถาปัตยกรรม แต่แท้จริงแล้วมันคือวัสดุส่วนหนึ่งที่ใช้ในการตกแต่งและขาดไม่ได้สำหรับพื้นที่แห่งนี้อย่าง “ต้นหญ้า” ที่ปกคลุมหน้าดินบริเวณสุสาน หรือที่เราเรียกว่า “หลังเต่า”

ใครที่คิดภาพ “หลังเต่า” ไม่ออกว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร ให้คิดถึงหญ้าสีเขียวนูน ๆ ที่อยู่หลังป้ายหลุมศพ ซึ่งเรามักตกแต่งด้วยการใช้สายรุ้ง กระดาษสี หรือกลีบดอกไม้โปรยทุกปี แต่ห้ามห้ามปักธงลงบนหลังเต่า เพราะถือว่า เป็นการทิ่มแทงหลุม และบางความเชื่อ ถือว่า เป็นการทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว

“หญ้า” คลุมสุสาน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงต้องจ่ายเงินให้ผู้ดูแลสุสานดูแลหญ้าเหล่านั้นทุกปีเพื่อให้การมาเชงเม้งแต่ละปีมีหญ้าต้นงาม ๆ รอเราอยู่ และหญ้าบนสุสานแตกต่างจากหญ้าชนิดอื่น ๆ หรือไม่ เพื่อคลายความสงสัย เรานำความรู้จากการเลือกสายพันธุ์หญ้ามาแบ่งปันกันในบทความนี้ เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนสามารถเลือกนำไปใช้งานได้ตามความเหมาะสม

วัสดุมีชีวิตสีเขียวเหล่านี้สามารถใช้ปลูกเพื่อความสวยงามบริเวณบ้านพักอาศัย ปลูกไว้ปกคลุมสนามเพื่อใช้งาน ไปจนถึงการปลูกหญ้าเพื่อรักษาพื้นที่ความแข็งแรงจากการยึดหน้าดินแล้ว และสุดท้ายไม่ว่าหญ้าในความหมายของคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม สำหรับเราชาวสถาปนิก “หญ้า” มีรายละเอียดและเป็นมากกว่าการห่มคลุมดินเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว

 ทนร้อน ทนหนาว ทนเท้า

หลายคนคิดว่า “หญ้า” ก็เป็นแค่หญ้า ต้นไม้เล็ก ๆ แต่ถ้าความจริงแล้วเราถ้าสังเกตดี ๆ ในฐานะคนใช้พื้นที่ เราจะเคยเห็นป้ายปักเตือนว่า “ห้ามเดินลัดสนามหญ้า” ขณะที่บางที่ที่เป็นสนามฟุตบอลกลับเชิญชวนให้เราใส่สตั๊ดไปเหยียบซะงั้น นั่นเป็นเพราะว่าหญ้าเป็นวัสดุที่มีความแตกต่างกันจากสายพันธุ์ โดยหญ้าที่นิยมใช้ปูในบ้านเรามีทั้งสิ้น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

  1. หญ้ามาเลเซีย 

หญ้ามาเลเซียเป็นหญ้าที่นิยมปลูกทางตอนใต้ของประเทศไทย และสันนิษฐานว่านำเข้าสายพันธุ์มาจากประเทศมาเลเซีย ลักษณะใบมีขนาดสั้นสีเขียวสด ชอบแดดรำไรถึงแดดจ้า ปลูกได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ไม่เหมาะกับการเหยียบย่ำ ปัจจุบันเป็นหญ้าที่พบเห็นได้น้อยเนื่องจากต้องการการดูแลรักษามากกว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ

  1. หญ้านวลน้อย

หญ้าชนิดนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดเนื่องจากขึ้นง่ายทุกสภาพดิน ดูแลง่าย ชอบแดดจัด นิยมปลูกกลางแจ้ง ลักษณะของใบเป็นใบกว้าง ไม่แข็งกระด้าง ช่อดอกยาว เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่ออากาศร้อนหรือแห้งแล้ง

 

  1. หญ้าญี่ปุ่น

หญ้าญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดใบกว้าง และชนิดใบกลม ลักษณะใบเป็นสีเขียวเข้มเช่นเดียวกันหญ้านวลน้อย แต่มีใบที่เล็กและละเอียดกว่า ปลายใบแข็งกระด้าง ช่อดอกสั้น ดอกเล็ก และมีสีน้ำตาลออกดำ ชอบแดดจัดและต้องการน้ำมาก เมื่อเติบโตจะหนาแน่น ทนต่อการเหยียบย่ำ

  1. หญ้าแพรก

หญ้าแพรกเติบโตในดินทุกประเภท ลักษณะใบเล็ก โตเร็ว ทนแล้งเหมาะแก่การปลูกกลางแจ้ง มีข้อดีเรื่องการยึดเกาะหน้าดิน นิยมปลูกในพื้นที่บริเวณริมตลิ่ง แม้มีข้อดีที่ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนักก็สามารถโตได้ด้วยตัวเอง แต่ในทางกลับกัน ก็ต้องรับข้อเสียเรื่องการจัดการหญ้าที่โตไวเกินไปทำให้ต้องตัดเพื่อปรับแต่งมากกว่าประเภทอื่น ๆ

จากที่ยกตัวอย่างไปทั้ง 4 พันธุ์จะเห็นว่าหญ้านวลน้อย น่าจะเหมาะสมกับการปูหลังเต่ามากที่สุดเพราะทนต่อความร้อน ต้องการน้ำสำหรับดูแลไม่มาก ขณะเดียวกันใบที่ไม่แข็งก็ช่วยให้เวลาเด็กขึ้นไปย่ำเพื่อตกแต่งสุสานช่วงเทศกาลไม่ต้องกังวลเรื่องความอันตราย หรืออาจจะทดแทนด้วยหญ้าแพรกได้เพราะสามารถเติบโตด้วยคุณสมบัติเดียวกัน แต่อาจจะต้องใช้เวลาตัดแต่งมากกว่าเท่านั้นเอง

นอกจากพันธุ์ที่ต้องใส่ใจแล้ว เรื่องการปูหญ้าเองก็ต้องมีเทคนิคการปูด้วย เบสิกเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการปรับหน้าดินให้เป็นพื้นดินเรียบเสมอกัน หรือจัดเนินเกลี่ยให้สวยงามก่อนเพื่อให้ปูได้เนี้ยบ ดังนั้น เมื่อดินพร่อง ดินยุบตามสุสานสิ่งที่เราควรทำคือการเติมดินเข้าไปเพื่อปรับให้เรียบ โรยทราย หรือดิน ใช้จอบเกลี่ยเพื่อให้ดินเตรียมสารอาหารแก่หญ้า จากนั้นรดน้ำจนดินอ่อนนุ่ม ชุ่มชื้น นำหญ้าที่เตรียมไว้มากดให้ติดกับดินเพื่อยึดราก นำลูกกลิ้งบดอัดกับพื้น ปรับแต่งให้สมบูรณ์เรียบร้อยแล้วค่อยรดน้ำตามการดูแลปกติ

ความเชื่อต้องมี เทคนิคต้องได้ ชาวสถาปนิกเดินทางไปไหนลองคิดแบบสถาปัตย์ ทุกองค์ประกอบการออกแบบมีดีเทลสนุก ๆ รอเราอยู่อีกมากมายให้เราได้ค้นหาและเรียนรู้

 

อ้างอิง:

https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/8736

https://www.ไร่หญ้าสวนสวย.com/article/2/เทคนิคการปู-สวนหญ้า-ด้วยตัวเอง

https://www.ihome108.com/lawn-grass/?fbclid=IwAR3Cea-Giz4P0iRuEcxo0HXy6Mgj4-QdGTcgJ5lniJEcR_CsJ1OZE_QV69o

Previous articleสภาสถาปนิกเดินหน้า “งานสภาสถาปนิก’19” จัดเต็มความรู้ 4 สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมสู่สาธารณชน
Next article‘เน็กซัส’ ชี้โครงการอสังหาฯ ปี’ 62 ตลาดทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ มาแรง