ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ประกาศว่าเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัวแล้ว บ้านที่เคยนอนสบายตอนนี้เลยเริ่มระอุ หลายคนเลยเริ่มออกไปซบอกสถานที่นอกบ้านอย่างห้างสรรพสินค้าหรือคาเฟ่ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำตลอดเวลา แต่ความจริงแล้วการออกไปจากบ้านมันต้องมีทั้งการเดินทางและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ดังนั้น วิธีที่สุดคือการทำบ้านให้เย็นไว้จะได้ไม่ต้องออกไปไหน

BuilderNews ขอเสนอความเย็นเชิง Material ที่ช่วยให้บ้านน่าอยู่ขึ้น สำหรับคนที่เริ่มปลูกบ้านแต่ไม่มีความรู้เรื่องนี้จะได้เช็กวัสดุที่นำมาใช้กับสถาปนิก ส่วนชาวสถาปนิกเองก็ได้ตรวจสอบข้อมูลที่หลงลืม เผื่อเหลือเผื่อขาดเติมเข้าไปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กับภูมิอากาศในบ้านเรา ดังต่อไปนี้

  1. ฉนวนกันความร้อน

ชิ้นแรกอ่านก็วางใจได้แล้วว่ากันความร้อนได้แน่นอน ฉนวนความร้อนคือวัสดุป้องกันความร้อนที่ใช้สำหรับติดตั้งในบริเวณที่ได้รับแสงแดดซึ่งเป็นต้นเหตุของความร้อนโดยตรง โดยเฉพาะกับบริเวณหลังคาบ้าน

  1. ทาสีรับร้อน

เดี๋ยวนี้สีไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามอย่างเดียว แต่ฟังก์ชันการออกแบบนับวันจะยิ่งล้ำและลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ความล้ำของผลิตภัณฑ์อย่างสีจึงแบ่งการใช้งานสำหรับหลายประเภท ทั้งภายนอกและภายใน แต่แน่นอนว่าเรายังใช้สูตรสำคัญบางอย่างด้านการเลือกโทนช่วยร่วมได้ด้วยจากการเลือกสีโทนอ่อนหรือโทนเข้ม สีอ่อนสะท้อนแสงและความร้อนได้สูงกว่า ส่วนสีเข้มนิยมทาภายใน แต่ใครที่อยากทาสีเข้มภายนอกจริง ๆ การติดฉนวนกันความร้อนที่ผนังเพิ่มจะช่วยป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น

  1. ดิน

ดินที่เรามาพูดในที่นี้อย่าเข้าใจผิดไปเชื่อมโยงกับการนำมาลงเพื่อปลูกต้นมาเพื่อสร้างร่มเงาให้บ้าน เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือการนำดินมาสร้างบ้านทั้งหลัง แม้การสร้างบ้านจากดินในยุคนี้คงยาก แต่นี่ถือเป็นวัสดุบ้าน ๆ เรียบง่าย ที่สร้างความเย็นสบายได้ยามร้อนและเป็นรังอุ่นยามหนาวที่คนไม่น้อยให้ความสนใจ

หลายคนมักจะสงสัยที่มาของฟังก์ชันคุมอุณหภูมิร้อนหนาวของวัสดุสีน้ำตาลนี้ คำอธิบายที่ง่ายตามทฤษฎีคือดินเป็นวัสดุที่มีรูพรุนจึงอมความชื้นยามค่ำคืนไว้ในตัว ทำให้ช่วงเช้าหรือกลางวันที่แดดร้อนจัด อากาศด้านในที่ได้รับความชื้นทำให้คนในบ้านสัมผัสกับความเย็น แต่ขณะเดียวกันระหว่างวันที่พบความร้อน ดินก็จะคายความชื้นออกไป จากความร้อนแฝงระเหยที่ดูดความร้อนจากพื้นที่ใกล้เคียงและอากาศมาแทนที่

  1. อิฐมวลเบา

พอบอกติดอิฐมวลเบาในบ้าน บางคนก็ยังมองไม่ออกว่ามันจะช่วยเรื่องอุณหภูมิบ้านได้อย่างไร และดูแล้วมันก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ แต่อันที่จริงถ้าเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานการสร้างผนังจากอิฐมวลเบาก็แข็งแรงไม่แพ้วัสดุอื่น ยิ่งความเฉพาะของวัสดุที่มีเนื้อวัสดุเป็นฟองอากาศขนาดเล็กกระจายตัว ยิ่งช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอกที่แผ่เข้าสู่ตัวบ้านได้เป็นอย่างดี

  1. กระเบื้อง

เรื่องนี้เราเคยนำเสนอไปแล้วในแง่การใช้งานเชิง Renovate พื้นที่เดิมให้ไฉไลกว่าเดิม แต่คุณสมบัติอีกอย่างที่น่าสนใจคือความเย็น เพราะกระเบื้องระบายความร้อนได้ดี จึงไม่ต้องแปลกใจที่เมื่อเราก้าวเข้าบ้านไหนที่ปูกระเบื้องเราจะรู้สึกเย็นกว่า ขณะที่ถ้าปูพื้นไม้อาจจะได้เรื่องความอบอุ่นทั้งโทนสีและสัมผัส

  1. ผ้าม่าน

อุปกรณ์นี้อาจจะไม่ค่อยเห็นในสำนักงาน แต่ถ้าเป็นแง่บ้านพักอาศัยโดยเฉพาะในห้องนอนด้วยแล้วล่ะก็ ม่านเป็นการตกแต่งที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากสามารถช่วยกันความร้อนจากแสงแดดส่องทั้งช่วงเช้าและบ่าย ขณะเดียวกันก็ป้องกันความเย็นไม่ให้เล็ดลอดออกไปยามเปิดเครื่องปรับอากาศอีกด้วย ใครที่ยังไม่ได้ติดตั้งม่านไว้ในบ้านสามารถเลือกใช้งานได้ทั้งม่านกันแสงและม่านโปร่งเพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกตามฟังก์ชันที่ต้องการ

6 สิ่งที่เรานำมาฝากในครั้งนี้เป็นการแนะนำพอสังเขป ให้รู้ว่าวัสดุประเภทไหนเหมาะจะนำมาใช้ลดอุณหภูมิร้อน ๆ ช่วงเดือนเมษายนที่กำลังจะมาถึงโดยไม่ต้องเปลืองการใช้ไฟฟ้าบ้าง แต่แน่นอนว่านอกจากทั้ง 6 อย่างนี้ยังคงมีวัสดุอื่นอีกมากมายที่ช่วยปรับอุณหภูมิที่อยู่อาศัยได้เช่นกันเพราะจักรวาลของวัสดุนั้นมีมากกว่าที่เรามองเห็น (คราวหน้าจะนำมาฝากกันอีก)

อ้อ! ส่งท้ายสักนิดสำหรับคนที่คิดว่า ยังไง๊ยังไงมันก็ไม่เย็นเท่ากับการเปิดเครื่องปรับอากาศอยู่ดีและยืนยันว่าเปิดแอร์ไว้จะช่วยได้มากกว่า เราก็ไม่ดึงดัน แต่ขอแนะนำวัสดุที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยอย่าง “โซลาร์เซลล์” ให้ไปติดตั้งไว้ในบริเวณบ้านเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก เนื่องจากกระแสของพลังงานทางเลือกขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมและเหมาะสมจะนำมาใช้ในบ้านเรา เห็นได้จากข่าวการประกาศซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่เพิ่งแถลงข่าวโดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ที่เปิดเผย กกพ. เปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์) ภาคประชาชนซึ่งอยู่ในแผน PDP 2018 โดยจะทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์เริ่มตั้งแต่ปีนี้ และเปิดให้รับจดทะเบียนผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือน พ.ค. ดังนั้น ถ้าเราหาข้อมูลและนำไปติดตั้งเราจะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก เผลอ ๆ ถ้าเหลือจากการใช้งานยังสามารถเอาไปขายคืนให้ภาครัฐได้ด้วย

“อยู่เย็น อยู่เป็น ก็สบายกระเป๋าไปหลายต่อ”

 

อ้างอิงข้อมูลจาก :

https://www.thairath.co.th/content/1524981

 

 

Previous articleProject Review: RHYTHM เอกมัย เอสเตท
Next articleเปิดภาพตึกทั่วโลกที่ตกแต่งด้วยน้ำตกขนาดยักษ์