ส่วนใหญ่เรามักจะมองหางานดีไซน์แปลกใหม่จากงานต่างประเทศมาแบ่งปัน แต่ครั้งนี้ BuilderNews ขอเปลี่ยนบรรยากาศกลับมาแวะที่ประเทศไทยเราบ้าง เพราะเพิ่งมีแลนด์มาร์กสวย ๆ ทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่โบราณสถานให้เห็น แถมตอนนี้สถานที่แห่งนี้ยังเป็นที่นิยมที่ทำให้คนแห่กันไปเช็กอินที่จังหวัดนครสวรรค์อีกด้วย

ถ้าพูดถึงนครสวรรค์คนส่วนใหญ่จะคิดถึง “โมจิ” ถ้าพูดถึงนครสวรรค์คนส่วนใหญ่จะคิดถึง “ทางผ่านที่เป็นประตูสู่ภาคเหนือ” แต่หลังนี้ไปเมื่อพูดถึงนครสวรรค์คนจะพูดถึง “พาสาน”

“พาสาน” คืออาคารโมเดิร์นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการผสานกันระหว่างแม่น้ำสำคัญ 4 สายของประเทศไทย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่มาจากการประกวด “โครงการประกวดแบบต้นแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งได้ผู้ชนะคือ ไกรภพ โตทับเที่ยง กรรมการบริหารบริษัท Fars Studio (ขณะประกวดยังเป็นนักศึกษา)

จุดบรรจบสายน้ำจาก 4 สายเป็น 2 สาย และจาก 2 สายเป็นหนึ่งเดียวกันคือ “เจ้าพระยา”

อาคารคือความหมายของสถานที่

จุดเริ่มต้นของการประกวดโครงการ เกิดขึ้นจากการริเริ่มของชมรมรักษ์ต้นน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มคนในตลาดปากน้ำโพ ต้องการเห็นสัญลักษณ์บางอย่างบริเวณต้นน้ำเจ้าพระยาที่เป็นได้ทั้งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตของคนริมน้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ จึงร่วมมือกับหลายฝ่ายจัดงานประกวดโครงการทางสถาปัตยกรรมเพื่อเฟ้นหาผลงานการออกแบบที่ตอบโจทย์ จากนั้นจึงร่วมระดมทุนจากหลายฝ่ายเพื่อเนรมิตอาคารจนสำเร็จ

“พาสาน” มีที่มาจากคำว่า “ผสาน” ซึ่งต้องการสื่อความหมายของสถานที่ตั้งคือต้นสายแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ “เกาะยม” ที่เป็นจุดรวมของแม่น้ำสี่สายสำคัญ ปิง วัง ยม น่าน บริเวณนี้หลอมรวมแม่น้ำทั้ง 4 สายกลายเป็นเส้นเลือกใหญ่ของประเทศในที่สุด ชื่อนี้จึงตั้งมาเพื่อแสดงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้จริง ๆ ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้ชื่อยังเป็นความร่วมมือร่วมใจผสานความสามัคคีระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย จึงทำให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมอันสวยงามอย่างที่เห็น

Photo by Chavalit Chatchaianan

นอกจากชื่อที่ตั้งมาเพื่อให้ได้ความหมายของสถานที่แล้ว รายละเอียดทางสถาปัตย์ยังตอกย้ำด้วยว่าพาสานคือที่บรรจบของสายน้ำ เพราะคุณไกรภพได้ออกแบบให้เห็นโครงสร้างอันพลิ้วไหวประดุจสายน้ำ สอดประสานเป็นเกลียวก่อนปลายทั้งสองจะบรรจบเป็นหนึ่งเดียว

ด้านสีสันและวัสดุที่นำมาเลือกมีรูปแบบที่ทันสมัยแต่ยังไม่ทิ้งลายความเป็นสายน้ำ เพราะหุ้มด้วยเหล็กและทองแดง ยามสะท้อนแสงอาทิตย์อันร้อนแรงหรืออาทิตย์อัสดง วัสดุจะเปล่งประกายระยิบระยับสวยงามไม่ต่างจากสายน้ำของแม่น้ำเมื่อโดนแสงต้อง อาคารหลังใหม่นี้จึงมีเสน่ห์จากความแปลกตาแต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพที่คุ้นเคยของแม่น้ำเจ้าพระยาได้เด่นชัด

อีกข้อหนึ่งคือสถาปัตยกรรมนี้คิดล่วงหน้าเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติไว้แล้ว เพราะเขาคำนวณแล้วว่าเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น อาคารนี้จะต้องสามารถใช้งานได้ตามปกติโดยไม่ได้ขวางทางน้ำแต่ต้องยอมรับให้น้ำสัมผัสอาคาร ท่วมถึงอาคารได้ เนื่องจากเกาะยมถูกน้ำท่วมแทบทุกปีและความสูงของระดับน้ำจากต่ำสุดถึงสูงสุดยังมากถึง 9 เมตรหรือราว ๆ ตึกสามชั้น ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมอาคารจึงสร้างต่อจากเนินดิน เว้าพื้นที่ด้านล่างอาคารไว้เป็นช่องว่าง หรือต้นไม้ที่ล้อมมาเพื่อปลูกบริเวณนั้นเป็นต้นไม้สูงใหญ่ที่สูงทัดเทียมความสูงของสะพานด้านบน เพราะเหตุผลนี้มาจากการสำรองเรื่องน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

สถาปัตยกรรมที่มีชีวิตและสร้างความรื่นรมย์ให้ชีวิต

เชื่อว่าเห็นภาพแบบนี้แล้ว หลายคนที่ยังไม่เคยได้ไปสัมผัสพาสานด้วยตาตัวเอง อาจจะรู้สึกว่า “พาสาน” เหมือนการวาง installation สวย ๆ ขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ไปไว้ตรงปากน้ำโพเฉย ๆ เพื่อให้เราชื่นชมความงามได้จากภายนอกหรืออาจจะเข้าไปได้ แต่ก็เป็นพร๊อพไว้สำหรับถ่ายรูปเท่านั้น เรื่องนี้ขอบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะพาสานเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนรอบข้างดื่มด่ำกับสวนสีเขียวสร้างความรื่นรมย์ หรือชมวิวพานอรามาปากแม่น้ำรับบรรยากาศธรรมชาติ ปัจจุบันที่แห่งนี้จึงดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและคนพื้นที่ให้มาพบปะหรือมีกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้น ถ้าเราไปที่พาสานแล้วเห็นคนรวมกลุ่มกันเล่นดนตรี วิ่งออกกำลังกาย หรือเดินเล่นชิล ๆ ทั้งบนอาคารที่เป็นสะพาน หรือเหยียบย่ำบริเวณลู่ด้านล่างก็อย่าแปลกใจไป

Photo by สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครสวรรค์
Photo by สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครสวรรค์
Photo by สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครสวรรค์

ในอนาคตเมื่อพื้นที่ส่วนนี้ได้รับการจัดสรรอย่างเสร็จสมบูรณ์ ข้อมูลตามที่เพจข่าวนครสรรค์เผยแพร่ยังบอกให้เรารู้อีกว่าจะเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจกว่านี้ เพราะด้านในจะประกอบด้วย

1. สำนักงาน พาสาน สำหรับดำเนินงานดูแลพื้นที่
2. ห้องจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี การท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อสืบสานเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้คงอยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี
3. ส่วนควบคุมระบบอาคาร
4. จุดชมวิวทัศนียภาพ จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา
5. ลานประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม
6. แพท่าน้ำ 2 หลัง
7. กิจกรรม แสง สี เสียง แสดงถึงวิถีชีวิตผู้คนกับสายน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสาดส่องไปยังตัวอาคารด้วยเทคโนโลยี มัลติมีเดีย

ใครที่หยุดยาวต้นเดือนหน้ายังไม่มีแผนไปเที่ยวที่ไหน ลองไปเที่ยวเมืองรองสัมผัสความสวยงามจาก “พาสาน” ที่นครสวรรค์รับความประทับใจและความแปลกใหม่กันดูได้ เห็นงานนี้แล้วเราแอบคิดถึง ice formation ที่เคยเขียนไปเหมือนกัน เพราะรูปแบบก็คือการสร้างอาคารที่เป็นมิตรและโชว์ความโดดเด่นของพื้นที่แต่ยังคงความล้ำออกมา สำหรับคนไหนที่อยากเห็นความสดใหม่ของงานสถาปัตย์ทั้งหลาย อันที่จริงเราว่าไม่ต้องรอผลงานของดีไซเนอร์ระดับโลกอย่างเดียวหรอก แต่เปิดโลกจากการแวะไปดูทีสิส หรือผลงานนักศึกษาตามสถาบันต่าง ๆ ก็เป็นแหล่งไอเดียชั้นดีได้แล้ว เพราะ “พาสาน” ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าของดีมีให้เห็นเหมือนกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://joo.gl/bSA5A
https://joo.gl/mxTkqW

Photo by  Sairung Butdee

Previous articleสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านจับมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
รณรงค์ให้สมาชิกฯ ตระหนักถึงปัญหาสิ่งเเวดล้อม
Next article“Air Mountain” สถาปัตยกรรมพองลมอเนกประสงค์