2 สิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ “เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ และเครื่องดูแลต้นบอนไซ” ผลงานไฮไลท์ของนักศึกษาระดับ ปวช. จากห้อง FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จ.ลพบุรี อวดโฉมนวัตกรรมที่ได้เรียนรู้และฝึกหัดความเป็นนวัตกร (Innovator) จากเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรม และองค์ความรู้ด้านทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรมในห้องปฏิบัติการ FabLab หรือโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อพัฒนาให้นักเรียนและครูมีทักษะด้านวิศวกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานได้โดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ปูพื้นฐานและความสนใจสู่การเป็นนวัตกรต่อไปในอนาคต
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สวทช. ดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ FabLab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยมุ่งส่งเสริมให้จัดพื้นที่การเรียนรู้ขึ้น กระจายอยู่ใน 68 จังหวัด 150 สถานศึกษา แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 100 แห่ง และวิทยาลัยเทคนิคอีก 50 แห่ง ซึ่งรวมวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี เพื่อพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงาน โดยฝึกทักษะการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเกิดแรงบันดาลใจและสนใจในความเป็นนวัตกรต่อไปในอนาคต ซึ่งทักษะเชิงวิศวกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเยาวชนไม่ได้หยิบจับใช้งาน ฝึกปฏิบัติการกับเครื่องมือต่าง ๆ ในห้อง FabLab เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้นโดยในกลุ่มสถานศึกษาวิทยาลัยเทคนิค ด้วยการเรียนการสอนเชิงทักษะช่างทำให้เยาวชนล้วนมีความสามารถและมีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ยากนักในการใช้งาน สิ่งที่ท้าทายคือ การประดิษฐ์สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ออกมา จุดนี้ FabLab เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการส่งมอบองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้แก่นักศึกษาและครูในวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี และจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ผู้ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมการประกวด FabLab2020 อย่างบริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนมอบเครื่องพิมพ์สามมิติ รวม 20 เครื่อง พร้อมวัสดุการพิมพ์ หนึ่งในนั้นคือที่ FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี เพื่อช่วยกันผลิตและจัดทำเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันและปฏิบัติงานต่าง ๆ ส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆ ของจังหวัดลพบุรี
คุณเรวัช ศรีแสงอ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ทาง สวทช. และ มทร.ธัญบุรี ได้ให้อุปกรณ์และให้คำปรึกษา ทางวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีได้นำมาใช้เต็มศักยภาพ ซึ่งได้ใช้ตลอดปี เพราะเด็กอาชีวะ จะมีโอกาสได้ทำโครงงานก่อนจบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ปวช. 3 หรือ ปวส. 2 เด็กจะต้องมีผลงาน 1 ชิ้น ส่วนใหญ่จะได้ใช้อุปกรณ์ในห้อง FabLab ให้เกิดประโยชน์

 รวมถึงทางวิทยาลัยเองได้มีส่วนช่วยเหลือประชาชนและจังหวัด ซึ่งทางสาธารณสุขจังหวัดได้ขอให้ช่วยทำตู้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ใน 11 อำเภอ ซึ่งจังหวัดเองให้ความชื่นชมว่าทางวิทยาลัยมีเครื่องมือที่สามารถตอบสนองงานในภาวะจำเป็นได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญที่สุดเชื่อว่านักศึกษาทั้งสิ้นของวิทยาลัยจำนวน 7,000 กว่าคนจะได้มีโอกาสใช้ห้อง FabLab และเครื่องมือในการผลิตชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทางวิทยาลัยได้รับความรู้และการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี เช่น การใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่ใน FabLab มีการอบรมการออกแบบ สร้างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ระบบนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาถ่ายทอดต่อให้กับนักศึกษา เป็นต้น ทำให้นักศึกษาตื่นตัวที่จะนำความรู้ใหม่ ๆ เข้ามา ประกอบกับการสนับสนุนของ สวทช. ในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรม ภายใต้โครงการ FabLab สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ เบาบางลง ผมคิดว่าสังคมเราดีขึ้นได้ส่วนหนึ่งมาจากโครงการ FabLab นี้
   
สำหรับผลงานเด่น ๆ ที่ได้รับรางวัลและชื่อเสียงจากห้อง FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ได้แก่ เครื่องดูแลต้นบอนไซอัตโนมัติ เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุลืมทานยา โดย นายธนพัฒน์ บัวรี นักศึกษาชั้น ปวช. 2 วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ตัวแทนนักศึกษากลุ่มผลงานเครื่องดูแลต้นไม้อัตโนมัติ เล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้คือ ได้เห็นว่ามีคนจำนวนมากที่รักต้นไม้ แต่ไม่มีเวลาดูแล จึงเกิดไอเดียในการสร้างผลงานนี้ขึ้นมา โดยหลักการทำงานคือ เครื่องจะตรวจจับอุณหภูมิความชื้นของดิน เมื่อพบว่าความชื้นในดินต่ำกว่า 30 – 40% และเมื่ออากาศโดยรอบต้นไม้สูงกว่า 38 องศา เครื่องจะทำการรดน้ำต้นไม้ให้เองโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีการติดแสงสีแดงและสีน้ำเงินเอาไว้ เมื่อผสมกันจะกลายเป็นแสงสีม่วงที่มีคุณสมบัติคล้ายกับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ในแบบที่ต้นไม้ต้องการ เครื่องนี้สามารถนำไปต่อยอดด้านการเกษตรได้ทุกรูปแบบในกรณีที่ต้องการการรดน้ำ ใส่ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ ผลงานนี้ได้ใช้อุปกรณ์จากห้อง FabLab ในการตัดทำโครงตัวเครื่อง และการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (code program)

ขณะที่ น.ส.หทัยภัทร ดำรงค์เวช นักศึกษาชั้น ปวช. 2 วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ตัวแทนนักศึกษากลุ่มผลงานเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ เล่าว่า ผลงานได้รับแรงบันดาลใจมาจากการพบเห็นปัญหาการลืมทานยาในผู้สูงวัย ซึ่งเครื่องนี้ได้เขียนโปรแกรมไว้สำหรับจ่ายยาลดไข้ โดยหลักการทำงานจะเกิดจากการทำเซนเซอร์ที่ตรวจวัดอุณหภูมิ เมื่อตรวจวัดแล้วหากมีอุณหภูมิสูงเกิน 38 องศา เครื่องจะสอบถามว่าเราเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อทำการเลือกแล้วเครื่องจะจ่ายยาลดไข้ให้ตามขนาด เช่น เป็นผู้ใหญ่ จะจ่ายยาให้ 2 เม็ด เป็นต้น และเมื่อได้รับยาแล้วกดปุ่ม reset เครื่องจะแจ้งเตือนให้เราทราบว่าอย่าลืมทานยาอีกครั้งใน 4 ชั่วโมงต่อมา ในอนาคตยังสามารถเขียนโปรแกรมและพัฒนาให้จ่ายยาหลายชนิดได้ ผลงานนี้ได้ใช้เครื่องมือจากห้อง FabLab ในการสร้างตัววงจรที่ใช้ในการเตือนและจ่ายยา

นอกจากนี้ ห้อง FabLab ของวิทยาลัย ยังได้ใช้ประโยชน์ในการช่วยสร้างชิ้นงานเพื่อการเรียนรู้ด้านการออกแบบชิ้นงาน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานจริง เช่น การออกแบบชั้นใส่เอกสารในสำนักงาน และสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นต้น ตลอดจน เป็นที่ฝึกทักษะในสาขาวิชาช่างเทคนิคที่ต้องมีการออกแบบระบบการทำงานในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพของระบบโรงงานอุตสาหกรรมชัดเจนก่อนออกไปทำงานจริงด้วย

Previous articleชวนดู 8 ดีไซน์ร้าน “% Arabica” ที่ออกแบบโดย PUDDLE
สตูดิโอที่เคียงบ่าเคียงไหล่ตั้งแต่สาขาแรก
Next articleCURTAIN’S GUIDE: 5 เทคนิคเลือกผ้าม่านแต่งห้องนอน
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท