จากที่ได้กล่าวถึง SWOT ANALYSIS ในส่วนจุดแข็งและโอกาสไปในฉบับที่แล้ว คราวนี้ผมจะขอกล่าวถึงจุดอ่อนกันบ้าง เพื่อเสริมมุมมองของท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา ให้รอบด้านยิ่งขึ้น

ผลการประเมินตนเองของนิสิตโดยใช้ SWOT Analysis
จุดอ่อน/Weakness: ข้อมูลที่ได้จากการประเมินพบว่าในภาพรวมนิสิตเห็นว่าตนเองมีจุดอ่อนดังต่อไปนี้

1) ความขี้เกียจ
หัวข้อนี้เป็นจุดอ่อนยอดนิยมของชาวสถาปัตย์เกษตรฯ ที่ตนเองยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบาน พฤติกรรมนี้จะส่งผลมายังความเสียหายในการเรียนของตนเองอีกหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การส่งงาน การเข้าเรียน การสอบ การคิดแบบ และอีกหลายต่อหลายอย่างในชีวิตของนิสิตเอง เราจึงพบเห็นผลการเรียนและผลงานแบบของนิสิตสถาปัตย์เกษตรฯ ที่ขาดคุณภาพ และไม่อยู่ในมาตรฐานการทำงานที่ดี ทั้งในภาพรวมของคณะและลงรายละเอียดตามคุณภาพงานในแต่ละชั้นปีของนิสิต ความขี้เกียจของนิสิตอาจเกิดจากอุปนิสัยส่วนตัว การขาดทัศนคติที่ดีในการเรียน การขาดแรงจูงใจและเป้าหมายในการเรียนรู้ หรือแม้แต่การใช้เวลาให้หมดไปกับกิจกรรม ความบันเทิงส่วนตัวจนหมดแรงกายแรงใจจะทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิตโดยเฉพาะกิจกรรมทางการศึกษา

2) ขาดวินัยในการเรียนและการใช้ชีวิต (พฤติกรรมสารพัดขี้)
พฤติกรรมสารพัดขึ้เหล่านี้ ได้แก่ ขี้เซา ขี้คุย ขี้ลืม ขี้บ่น ขี้โม้ ขี้แอ็ค ขี้เก๊ก ขี้เหงา ขี้เมา ขี้ขอ ขี้ยืม ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการรวมมิตรเอานิสัย (เสีย) ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเองมาไว้ด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลมายังการขาดวินัยการเรียน เช่น ตื่นสาย ไม่รักษาเวลานัดหมาย เข้าเรียนไม่ตรงเวลา ไม่ตั้งใจเรียนเพราะมัวแต่คุย การส่งงานไม่ตรงตามกำหนดความไม่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ และเกี่ยวพันมายังการใช้ชีวิตส่วนตัวของตัวเองอีกมากมาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานในวิชาชีพสถาปนิกในอนาคตของตนอย่างแน่นอน เพราะงานของสถาปนิกเป็นงานที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นทำแบบร่างไปจนถึงการดูแลการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้วินัยในการทำงานยังเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตั้งแต่ลูกค้า วิศวกรในทีมงานออกแบบ และผู้รับเหมาก่อสร้าง

3) ขาดทักษะการวางแผนเวลา
ประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาที่พบมากในคำตอบของนิสิตและการสังเกตพฤติกรรมของนิสิตอีกเช่นกัน พฤติกรรมอาจเป็นผลจากจุดอ่อนหลายเรื่องมาผสมผสานกัน เช่น ความขี้เกียจ ขาดวินัย การรักความสบาย ทำให้การใช้ชีวิตของนิสิตเป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อย ขาดการวางแผนทั้งการเรียน การทำงานส่งอาจารย์ เลยไปจนถึงการใช้ชีวิต และมักมีข้อแก้ตัวหรือข้อปลอบใจตนเองที่ใช้เสมอ ๆ ว่า “ก็งานมันเยอะ ไม่มีเวลา อาจารย์ให้งานมากเกินไปใครจะไปทำได้ทัน” แต่หากพิจารณาในแง่ของการใช้เวลาที่ตนเองมีอยู่ของนิสิตจะพบว่า คำพูด “ไม่มีเวลา…” ของนิสิตน่าจะเป็นการไม่มีเวลาเหลือพอสำหรับการทำงานหรือเรียน ซึ่งโดยแท้จริงเป็นกิจกรรมหลักในช่วงชีวิตการเรียนของตน เพราะตนเองใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นเกม เล่นเน็ต และกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องรองในชีวิตตนเองมากกว่า การวางแผนเวลาเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตอย่างผู้มีวุฒิภาวะ เพราะในอนาคตนิสิตจะมีภาระรับผิดชอบเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตตามมาอย่างมากมาย รวมทั้งภาระการทำงานซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในการใช้เวลาของตนเองในแต่ละวัน การวางแผนเวลาจะมีผลอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ให้ทันตามกำหนดเวลาที่นัดหมายกับลูกค้าหรือผู้บังคับบัญชา ต่อจากนั้นแล้วการแบ่งช่วงเวลาในแต่ละวันให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น การทำงาน การพักผ่อน การทานอาหาร การสันทนาการเป็นต้น เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตของตนเองได้ต่อไป นอกจากนี้ทักษะการวางแผนยังต้องถูกนำไปใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตของนิสิต ตั้งแต่การวางแผนการเงินส่วนตัวและครอบครัวในอนาคต การวางแผนชีวิตในอนาคต การวางแผนศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เป็นต้น

4) การไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง/การขาดบุคลิกภาพ และทักษะความจำเป็นทางวิชาชีพ
ประเด็นนี้เป็นข้อมูลความจริงที่พบจากความเห็นของนิสิตเป็นจำนวนมากอีกเช่นกัน ความไม่มั่นใจตนเองของชาวสถาปัตย์เกษตรฯ เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากพฤติกรรมต่างๆ ในการเรียนและการใช้ชีวิตในภาคการศึกษาหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นไม่กล้าพูดกล้าคุย ไม่กล้านำเสนอความคิดของตนเอง ไม่มั่นใจตัวเอง ไม่กล้าเผชิญโลกภายนอก ไม่ชอบแข่งขันกับผู้อื่น นอกจากนี้จากการประเมินองค์ความรู้ทางวิชาชีพและวิชาการของนิสิตก็พบว่า ตนเองขาดความรู้ที่จำเป็นในการทำงานสถาปนิกหลายเรื่อง ตั้งแต่กฎหมาย ระบบอาคาร วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งอาจเกิดจากรูปแบบวัฒนธรรมขององค์กรที่ขาดภาวะผู้นำเพียงพอ ขาดกิจกรรมนิสิตที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนเอง ขาดแบบอย่างที่ดีให้ปฏิบัติทั้งนิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่า จึงส่งผลมายังพฤติกรรมการไม่มั่นใจในศักยภาพและองค์ความรู้ของตนเอง จุดอ่อนเหล่านี้เป็นเรื่องที่นิสิตต้องวางแผนเพื่อแก้ไขปรับปรุงปัญหาเหล่านี้ให้ลุล่วงโดยเร็ว เพราะยิ่งปล่อยไว้นานจะยิ่งกลายเป็นความเคยชินที่ฝังรากลึกจนแก้ไขไม่ได้ และเมื่อพิจารณาถึงบทบาท Team Leader ของสถาปนิกซึ่งต้องมีองค์ความรู้เพียงพอต่อการทำงานในหน้าที่ของตนเองและความสามารถในการประสานงานหรือข้อมูลกับผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ แล้ว จะยิ่งเป็นอุปสรรคในการทำงานในวิชาชีพเป็นอย่างยิ่ง

5) เสพติดอบายมุขในรูปแบบต่าง ๆ
จากข้อมูลที่ได้รับพบว่านิสิตส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด มีการใช้เวลาหมดไปกับอบายมุขหรือกิจกรรมที่นำไปสู่ความเสื่อมในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ (คิดเหมาเอาว่า) เป็นการพักผ่อนและความบันเทิง อาทิ ดู TV ดูหนังเล่นเกม Online หลากหลายรูปแบบ เล่น Twitter Instagram ในยุค Net Generation ที่ชอบการทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อม ๆ กัน ผสมกับความสะดวกสบายในการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของตนเอง ผนวกกับพฤติกรรมแบบ Fast-food ส่งผลมายังทัศนคติในการใช้ชีวิตที่ยึดติดกับความสะดวกสบายเป็นหลัก หรือเน้นการเล่นหรือบันเทิงเป็นหลักทั้งการเรียน การทำงานและการเล่นที่เป็นความบันเทิงจริง ๆ โดยไม่แยกแยะว่ากิจกรรมใดต้องพิจารณาเอาความสบายเป็นที่ตั้ง และกิจกรรมใดเป็นงานหรือหน้าที่รับผิดชอบที่ตนเองต้องกระทำให้เกิดผลสำเร็จโดยไม่ควรคำนึงถึงความสะดวกสบายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ลักษณะนิสัยแบบ Fast-food และการมีทางเลือกในชีวิตที่หลากหลาย ยังทำให้คนในยุคนี้ขาดเป้าหมายและแรงบันดาลใจในชีวิตที่เพียงพอ อันเนื่องมาจากภาวะที่ถูกเสนอจากสื่อและสิ่งเร้าต่าง ๆ ตลอดเวลา และคนในวัยนี้ยังมีพฤติกรรมร่วมเหมือน ๆ กันอีกประการหนึ่ง คือ การขาดความอดทนและไม่เห็นความสำคัญของการรอคอย อันเป็นผลมาจากการได้รับสิ่งต้องการในปัจจุบันทันทีแบบ Real-time อย่างมากมาย ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยี อันมากมายในชีวิตประจำวันของตนเอง คนในยุคนี้จึงมองไปที่ผลสำเร็จอย่างทันที และมุ่งเน้นไปที่ผลสำเร็จหรือผลตอบแทนทางรายได้จำนวนมากตั้งแต่แรกเริ่มทำงาน และเด็กในยุคนี้ยังมุ่งพิจารณาผลประโยชน์และสิ่งที่ตนเองจะได้รับเป็นเรื่องหลักและเรื่องแรก โดยไม่ให้ความสำคัญกับภาระความรับผิดชอบอันพึงมีต่อสิ่งที่ตนเองกระทำอยู่แต่อย่างใด รวมทั้งยังไม่สนใจกระบวนการและขั้นตอนและสิ่งที่ตนเองต้องลงทุนลงแรงไปเพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จนั้น

จึงเป็นเรื่องปกติที่เราสามารถพบภาวะการเปลี่ยนแปลงงานบ่อยครั้งในระยะเวลาสั้นถึงสั้นมาก (น้อยกว่า 1 ปี) ของคนในยุคนี้ เพราะเขาขาดความอดทนรอคอยในการปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จของงาน ไปจนถึงไม่ใส่ใจถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้รับระหว่างการทำงาน เนื่องจากตนเองไม่เข้าใจว่าปัญหาเหล่านั้นเป็นส่วนของชีวิตการทำงานและการเรียนรู้ จากนิสัยและพฤติกรรมเหล่านี้จึงส่งผลมาถึงการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน เราจึงพบคนในยุคนี้จะชื่นชอบการทำงานด้วยตัวเอง (Free Lance) หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แบบอิสระกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ต้องการให้มีใครมาคอยควบคุมการใช้ชีวิตที่ยึดติดกับความสบายของตนเอง และตนเองสามารถเลือกที่ทำหรือไม่ทำได้โดยอิสระ ข้อควรระวังสำหรับจุดอ่อนนี้อีกประการคือความสะดวกสบายและความอิสระของตนเองนี้อาจนำไปสู่การขาดองค์ความรู้ในการทำงาน และการทำงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเนื่องจากขาดประสบการณ์การเรียนรู้ ไปจนถึงการประพฤติผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพก็เป็นได้

6) ขาดทักษะการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ และขาดมนุษยสัมพันธ์
จุดอ่อนนี้น่าจะเกิดจากพฤติกรรมร่วมของเด็กในยุค Net Generation อันเนื่องจากพฤติกรรมความชื่นชอบในโลกแห่งเทคโนโลยีเสมือนจริงผ่านอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ จนถึงขั้นหมกมุ่น เวลาในชีวิตของคนเหล่านี้จึงหมดไปกับการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ในโลกเสมือน (Virtual Reality) กับบรรดาเพื่อนฝูงที่อยู่ในชุมชนออนไลน์ทั้งหลายทั้งปวงในระดับ Global ข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศ เด็กใน Generation นี้จึงไม่สนใจการพูดคุยสนทนาแบบ Face to Face และขาดทักษะการสื่อสารแบบ Oral Communication ไปจนถึงทักษะการเขียนและเรียบเรียงความให้ผู้อื่นเข้าใจ นอกจากนี้การใช้ชีวิตแบบปัจเจกโดยลำพังส่วนตัวจะส่งผลมายังการขาดเครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคมและบทบาทสาธารณะซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการได้รับโอกาสทางการงานและการใช้ชีวิตของตนเองอีกด้วย

ในโอกาสนี้ผมจะขอกล่าวแต่เพียงเท่านี้ก่อน ในส่วนของอุปสรรคนั้นจะขอนำเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไป แต่หวังว่าแง่มุมดังกล่าวนี้จะเป็นข้อคิดสำหรับท่านผู้อ่าน และนิสิตนักศึกษาทั้งหลายได้เป็นอย่างดีนะครับ

 

นิตยสาร Builder Vol.31 MAY 2016

Previous articleนักเรียนฝรั่งเศสบรรเจิดไอเดีย ออกแบบบ้านขนาดจิ๋ว ภายใต้พื้นที่ปลูกสร้างเพียง 5 ตรม.
Next articleระบบปรับอากาศอัจฉริยะ โครงการ Kasikorn Business-Technology Group
ผศ.รัชด ชมภูนิช
ที่ปรึกษานิตยสาร Builder คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์