หากพูดถึงระบบขนส่งมวลชน BRT ในบ้านเราแล้ว หลายท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามันยังเป็นระบบที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะนอกจากจะมีประชาชนมาใช้บริการน้อยไม่คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่เสียไป แล้วยังต้องประสบปัญหาหลักคือเส้นทางวิ่งของ BRT ต้องไปเบียดเสียดบนถนนกับรถคันอื่นๆ หรือเท่ากับต้องเสียเลนวิ่งของรถไปอีกหนึ่งช่อง ส่งผลให้การจราจรที่ติดขัดมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้วกลับยกระดับให้ติดมากขึ้นหนักกว่าเก่าเสียอีก เรียกได้ว่าแทนที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชนมีความสะดวกยิ่งขึ้นกลับกลายเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มแต่ไปเพิ่มความลำบากกับผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ไปเสียอย่างนั้น

เป็นที่แน่นอนว่าเมืองใหญ่ๆ ชั้นนำทั่วโลกต่างมีรถเมล์ BRT ใช้งานกันทั้งนั้น แต่การสร้างระบบดังกล่าวก็ต้องพัฒนาตัวระบบและงานก่อสร้างให้เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งที่จริงแล้วประเทศไทยก็สามารถที่จะสร้าง BRT มาให้ประชาชนใช้งานได้เช่นกันแต่ไม่ควรที่จะไปแย่งช่องทางวิ่งรถให้จราจรติดขัดดังเช่นทุกวันนี้ หากเช่นนั้นลองตัดปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างระบบ BRT ลอยฟ้าขึ้นมาเสียล่ะ แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวอาจจะฟังดูแปลกเสียหน่อย แต่มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใดเพราะประเทศจีนก็ได้เคยมีการสร้างทางยกระดับ BRTลอยฟ้า ขึ้นมาใช้งานแล้วในเมืองเซี่ยเหมิน ซึ่งผลการดำเนินงานก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจเพราะเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ให้ทางเดินของรถรถไปเบียดเบียนเส้นทางเดินรถประเภทอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นมนต์เสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองอีกด้วย

BRT
ภาพ BRT ลอยฟ้า เมืองเซี่ยเหมิน (ที่มาภาพ Karl Fjellstrom, itdp-chaina.org)

สำหรับเมืองเซี่ยเหมินนั้น ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีประชากรอาศัยอยู่อย่างคับคั่งเนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นเกาะและเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งของจีน ส่งผลให้เมืองดังกล่าวมียานยนต์วิ่งอยู่บนท้องถนนเป็นจำนวนมากจึงประสบปัญหาการจราจรติดขัดเสมอมา ทางหน่วยงานขนส่งมวลชนเซี่ยเหมิน จึงได้มุ่งเดินแผนแก้ปัญหาการจราจรหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบ BRT เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยรถสาธารณะมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การเพิ่มระบบ BRT มาใช้งานนั้นย่อมหมายถึงผลกระทบที่มีต่อช่องทางเดินรถทั่วไป และเสียงต่อการทำให้รถติดขัดมากขึ้นไปอีก ทางภาครัฐจึงทุ่มงบประมาณสร้างเส้นทางเดินรถ BRT แบบลอยฟ้า พร้อมกับสร้างสถานีหยุดรถตามเส้นทางให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการอย่างทั่วถึงเฉกเช่นรถไฟฟ้าขนส่งตามตัวเมืองทั่วไป ซึ่งจะทำให้เส้นทาง BRT ไม่ไปเบียดช่องทางเดินรถที่อยู่บนภาคพื้นดิน จึงหมดห่วงเรื่องผลกระทบต่อการจราจร และมีความปลอดภัยสูง ช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางถึงที่หมายได้ไวขึ้นกว่าเดิม รวมถึงยังใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างระบบรถไฟฟ้าเสียอีก

ระบบ BTR ลอยฟ้าของเมืองเซี่ยเหมิน ช่วยให้การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งมีเส้นทางหลักจำนวน 6 เส้นทาง เปิดให้บริการโดยผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในตัวอย่างอย่างคลอบคลุม รวมถึงยังมีการเชื่อมเส้นทางข้ามทะเลไปยังพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย ในแต่ละเส้นทางจะมีสถานีหยุดรถเพื่อขนถ่ายผู้โดยสารในแต่ละจุด มีสถานีทั้งสิ้นทุกเส้นทางมากถึง 42 สถานี รวมเป็นระยะทาง 48.9 กิโลเมตร โดยแต่ละสถานีจะห่างกันโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 กิโลเมตร พร้อมด้วยรถวิ่งให้บริการมากถึง 307 คัน พร้อมทั้งมีพนักงานขับรถที่ได้รับการอบรมมาอย่างดีขับขี่โดยใช้ความเร็วต่ำ จึงหมดห่วงเรื่องความปลอดภัย

นอกจากนี้ระบบ BTR ยังใช้งานได้ง่ายคล้ายกับรถไฟฟ้าในบ้านเรา ในแต่ละสถานีจะมีป้ายประชาสัมพันธ์แสดงรายละเอียดเส้นทางเดินรถสายต่างๆ พร้อมกับตารางเดินรถแบบเรียลไทม์ ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ประจำการดูแลให้ความสะดวกและความปลอดภัยอยู่ทุกสถานี ผู้โดยสารจึงแทบไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางเพราะสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา และที่สำคัญก็คือราคาค่าโดยสารต่ำมาก เริ่มต้นเพียงเพียง 0.5 – 5 หยวนเท่านั้น (ประมาณ 3 – 27 บาท) โดยราคาจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ถือว่าถูกกว่าค่ารถไฟฟ้า BTS ในบ้านเราเสียอีก และหากผู้โดยสารใช้สมาร์ทการ์ดราคาก็ลดลงมากกว่านี้อีกเช่นกัน

จากตัวอย่างที่ได้ยกมาคงจะเห็นแล้วว่าการสร้างทางยกระดับเพื่อเป็นเส้นทางวิ่งของ BRT นั้น เป็นอีกหนึ่งหนทางอันมีประสิทธิภาพที่ไม่สร้างผลกระทบต่อการจราจนบนถนนสายหลัก และอาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมต่อประเทศไทยด้วย แต่เมื่อพิจารณาแล้วหากสร้างทางลอยฟ้าขนาดประมาณ 2 ช่องทางบริเวณใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็คงไม่เหมาะสมสักเท่าไร เพราะช่องว่างของถนนหลายสายคับแคบเกินไป อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงค่าเวรคืนพื้นที่ในบางส่วนอีก ประกอบการงานก่อสร้างย่อมทำให้การจรจรติดขัดด้วยเช่นกัน ดังนั้นการสร้างระบบ BRT ลอยฟ้า จึงควรสร้างในบริเวณที่ไม่แออัดจนเกินไปอย่างแถบชานเมืองหรือแถบปริมณฑล โดยพิจารณาก่อสร้างเส้นทางผ่านหมู่บ้านหรือเขตผู้อยู่อาศัยรอบเมืองและเชื่อมต่อกับห้างสรรพสินค้าไปจนถึงระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่นรถไฟฟ้า หรือท่าเรือขนส่ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยยกระดับการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวกและช่วยให้ถ่ายเทผู้โดยสารระหว่างใจกลางเมืองและเขตชานเมืองได้ดียิ่งขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าอาณาเขตของเมืองมีการขยายตัวถึงไปตามกาลเวลา ทางภาครัฐจึงต้องเร่งปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพตอบรับความต้องการของประชาชน ดังนั้นการสร้างระบบ BRTลอยฟ้า จึงอาจเป็นหนึ่งในทางออกที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีที่สุด และหากเห็นชอบก็ควรที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะความหนาแน่นของที่ดินนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งแม้แต่บริเวณเขตชานเมืองในปัจจุบันก็จะกลายมาเป็นพื้นที่คับคั่งในอนาคต ดังนั้นการก่อสร้างทางลอยฟ้าสำหรับ BRT จึงเสมือนเป็นการลงทุนซื้ออนาคตให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชน และถ้าหากระบบดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ก็ยังสามารถดัดแปลงทางลอยฟ้าให้สามารถใช้งานเป็นทางด่วน หรือรถไฟฟ้ารางคู่ก็ได้เช่นกัน

BRT
ภาพ BRT ลอยฟ้า เมืองเซี่ยเหมิน (ที่มาภาพ Karl Fjellstrom, itdp-chaina.org)
Previous articleสถาปนิกคิดไกล ใช้ ‘วัสดุก่อสร้างเหลือทิ้ง’ ในงานดีไซน์ได้อย่างสร้างสรรค์
Next articleNike ขยายคลังสินค้าใหม่ ภายใต้แนวคิดการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืน
ด้วยวิธีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วีรศักดิ์ ประสพบุญ
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านรถเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม