ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศร้อนที่สุดเท่าที่ผมได้เคยประสบมาในชีวิตของผม ประเทศในแถบนี้มีฤดูร้อนที่ร้อนมากก็จริงแต่ก็ไม่ได้ร้อนและแห้งมากขนาดนี้ บางวันอุณหภูมิสูงสุดทะลุไปถึง 44 องศาเซลเซียส ทำเอาแต่ละคนต้องดิ้นรนใช้ชีวิตให้ผ่านความร้อนในแต่ละวันไปกันเลยทีเดียว

แม้ว่าสภาพความร้อนที่ว่ามานั้น จะเป็นไปเพราะสภาวะโลกร้อน หรือภูมิอากาศที่ผิดปกติและแตกต่างจากธรรมชาติของย่านนี้หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เสริมให้เราต้องผจญความร้อนมากขึ้นไปอีกคือการที่เมืองสร้างและปลดปล่อยความร้อนผ่านวัสดุก่อสร้างทั้งหลายเป็นปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า ปรากฏการณ์เกาะร้อน หรือ Urban Heat Island นั่นเอง
Urban Heat Island นั้น เกิดขึ้นจากการที่อากาศใกล้พื้นดินในเขตชุมชนเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องอยู่เป็นจำนวนมาก มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณที่เป็นป่าไม้หรือพื้นที่สีเขียวที่อยู่ถัดออกไป เชื่อว่าปรากฏการณ์เกาะร้อนนี้ทำให้อุณหภูมิในเขตเมืองนั้นสูงขึ้นถึง 2-5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทำให้มนุษย์เราสามารถรับรู้ถึงความแตกต่างได้ว่ามันร้อนขึ้นจริง ๆ

ในความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง วัสดุก่อสร้างเช่นคอนกรีต ซึ่งเป็นวัสดุที่คอยดูดซับความร้อนโดยตรงจากแสงอาทิตย์และปลดปล่อยความร้อนออกมา กระจกที่สะท้อนความร้อนทั้งหลายและรวมถึงจากกิจกรรมอื่น ๆ ในเมือง อาทิ การเผาผลาญเชื้อเพลิงในการขนส่ง ฝุ่นในอากาศ ทั้งหมดที่ว่ามานี้ร่วมกันทำให้อุณหภูมิในเมืองร้อนขึ้นมาได้มาก อย่างไรก็ตามอาคารสิ่งปลูกสร้างนับได้ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เมืองนั้นเกิดอากาศร้อนในลักษณะ Urban Heat Island นั่นเอง ในขณะเดียวกันพื้นที่สีเขียวที่จะทำให้ไอน้ำจากพื้นระเหยขึ้นมาเพื่อลดความร้อนของดิน หรือต้นไม้ที่ทำหน้าที่คอยดูดซับรังสีของดวงอาทิตย์ ก็ถูกเปลี่ยนไปเพื่อที่จะสร้างอาคารทั้งหลาย ทำให้แสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาถึงวัตถุเต็ม ๆ ความร้อนก็จะถูกดูดซับไว้และทำให้อากาศร้อนขึ้นในที่สุด

วิธีแก้ไขปรากฏการณ์เกาะร้อนนั้นไม่ยากเลยครับ ก็คือช่วยกันปลูกต้นไม้ในเขตเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมืองและชุมชน หรือแม้แต่อาคาร การทำสวนแนวตั้ง การปลูกต้นไม้บริเวณดาดฟ้าของตึกที่อาจจะเป็นไม้พุ่มเตี้ย ๆ หรือหญ้า รวมถึงการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่สะท้อนแสง และอะไรก็ตามที่ช่วยลดพื้นที่ของคอนกรีตหรืออาคารที่รับแสงอาทิตย์โดยตรงที่ทำให้แสงอาทิตย์สูญเสียพลังงานไป อาคารก็จะรับแสงและความร้อนน้อยลงและถูกปล่อยกลับออกมาน้อย
ตามไปด้วย แต่ในความเป็นจริงมีอาคารและสถานที่หลายแห่งที่จำเป็นจะต้องใช้งานพื้นที่เหล่านั้น และไม่สามารถจะทำให้พื้นที่นั้นเป็นสนามหญ้า พื้นดินธรรมชาติ หรือปลูกต้นไม้ได้ เช่น ลานจอดรถ ลานอเนกประสงค์ต่าง ๆ ทางเดิน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องใช้งานรับน้ำหนัก หรือต้องการความแห้งและเรียบของพื้นที่ แต่ถ้าทุกคนจะใช้พื้นที่ทั้งหมด โดยจะไม่แบ่งเพื่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติบ้าง สภาพอากาศร้อนในเมืองก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปด้วย พร้อมกับการเติบโตของเมืองและการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น

ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าปัญหาของเมืองที่ร้อนนั้นเกิดจากขาดพื้นดินธรรมชาติ แต่เราก็ไม่ค่อยจะทำอะไรกับเรื่องนี้เท่าไหร่ ทั้งนี้เวลาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ เรามักจะพูดถึงพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ก่อสร้าง ขายของ ลานจอดรถ หรืออื่น ๆ ซึ่งก็คือสิ่งที่จะกลับมาเป็นรายได้ของเรา แต่ในที่สุดความที่เราทุกคนอยากได้มาก ๆ เหมือนกันหมด ต้นทุนของความอยากได้นั้นก็ได้สะท้อนกลับมาที่สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ

แล้วเราจะทำอย่างไร? ง่ายที่สุดก็คือเจียดเอาพื้นที่ที่เราไม่ได้ใช้คืนกลับให้ธรรมชาติบ้าง ผมอยากให้ผู้อ่านที่คิดว่ากำลังจะเทลานปูนขนาดใหญ่ทำที่จอดรถสำหรับโรงงานหรือห้าง มันก็มีส่วนที่ยังไง ๆ รถก็เข้าไปจอดไม่ได้หรือใช้งานอะไรไม่ได้เลย แล้วทำไมเราถึงเทปูนทำแบบพื้นร้อน ๆ ไปด้วย เว้นให้มีพื้นดินที่มีหญ้ามีต้นไม้ขึ้นบ้าง หรือขุดเป็นบ่อตื้น ๆ ไว้เวลาฝนตกจะได้ช่วยหน่วงน้ำไว้ด้วย หรือขอบที่ริมรั้วก็อาจจะเว้นที่ดินเพื่อปลูกต้นไม้ที่ทั้งเป็นแนวเขตเป็นที่บังสายตา และอาจจะใช้ประโยชน์หรือรับประทานได้ด้วย เช่น กล้วย กระถิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีหรือวัสดุอีกมากมายที่จะช่วยให้อาคารลดการดูดและปลดปล่อยความร้อนจนเป็นผลให้เมืองกลายเป็นเกาะร้อน แต่จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาก็น่าจะมาจากการที่เจ้าของอาคารและสถานที่ รวมถึงสถาปนิก และนักออกแบบ มีจิตสำนึกต่อการออกแบบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุดนั่นเอง

 

นิตยสาร Builder Vol.33 July 2016

Previous articleผู้ซื้อ ควรตรวจสอบบ้านอย่างไร ให้ได้บ้านที่มีคุณภาพ
Next articleต่อเติมอาคารมิกซ์ยูส Marina one ถิ่นเมอร์ไลออน โอบล้อมป่าใหญ่ใจกลางกรุง
ดร.อรช กระแสอินทร์
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์