ผมเชื่อว่าในสัปดาห์หนึ่ง ๆ เราทุกคนคงเคยเดินผ่านเข้า-ออกประตูศูนย์การค้า หรือห้าง Mega Store กันหลายครั้งหลายหน และผมก็เชื่ออีกว่าในหลายครั้งหลายหนที่เราเดินเข้าหรือออกในห้างเหล่านั้น เรามักเดินตามคนที่เดินข้างหน้า เพื่อเบียดเสียดแย่งกันเดินผ่านเข้าประตูฝั่งที่มีคนเปิดเข้า-ออกกันเพียงบานเดียว จนกลายเป็นความแออัดตรงจุดดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ทางเข้าทุกทางเข้าจะมีประตูเป็นคู่ ๆ อยู่สองบานหรือมากกว่าสองบาน

เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมคนเราต้องแห่กันไปเดินตามเข้าหรือออกจาก ประตู ที่มีคนผลักเข้าออกกันเพียงบานเดียว ทั้ง ๆ ที่ประตู (คู่) ที่อยู่ติดกันก็ไม่ได้มีการแปะป้ายบอกว่าเสียหรือห้ามเปิดแต่อย่างใด

ทำไมเราถึงต้องเดินตาม ๆ กันไปเพื่อเบียดเสียดแย่งกันเข้าออกจากประตูบานนั้น ทั้ง ๆ ที่เรามีทางเลือกอื่น ทั้งการเปิดประตูบานข้าง ๆ หรือขยับไปเข้าออกจากทางเข้าออกอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน

ทำไมเราถึงต้องทำตามกันหรือเดินตามกัน ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเลือกเดินไปที่ไหนหรือเข้าออกประตูบานไหนก็ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องตามฟีโรโมนหรือการบงการของหัวหน้าฝูงแต่อย่างใด

พฤติกรรมแบบนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยเราชอบทำตาม ๆ กันเหมือนถูกสะกดจิตหมู่เพื่อไปลงแขกผจญปัญหาร่วมกัน โดยไม่ยอมคิดว่าตนเองสามารถเลือกที่จะไม่ต้องพบปัญหาได้ ถ้าใช้สติคิดเพิ่มขึ้นอีกสักนิดเดียว

“ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ จะเห็นได้จากการขับรถตาม ๆ กันไปเพื่อหาที่จอดรถในอาคารจอดรถยนต์ หรือแห่ตามกันไปเบียดเสียดเพื่อแย่งกันจับจองที่นั่งในร้านอาหารที่คิดว่าต้องอร่อยแน่ ๆ เพราะคนกินเยอะ หรือเห่อกันไป “

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยเดินไปเข้าประตูด้านที่ซ้ำ ๆ กันกับคนหมู่มากอื่น ๆ เพราะไม่อยากเสียเวลารอเข้ารอออก หรือต้องเสียอารมณ์กับการเบียดเสียดกัน เพราะผมเลือกที่จะเอื้อมมือไปผลักประตูอีกบานที่อยู่ติดกัน

เหตุผลก็คือการออกแบบประตูเข้าออกอาคารสาธารณะข้างต้นที่มีคนเข้าออกเป็นจำนวนมากตลอดเวลา สถาปนิกจะกำหนดทางเข้าออกให้เป็นประตูบานคู่เสมอเพื่อรองรับผู้ใช้อาคาร และหลายอาคารก็จะมีประตูคู่นี้ถึง 2 ชุดในตำแหน่งเดียวกัน ในกรณีอาคารที่มีปริมาณ Traffic การเข้าออกมากเป็นพิเศษ เช่น Main Entrance หรือทางเข้าหลัก

ดังนั้นเราจึงไม่มีความจำเป็นต้องตามไปเข้าหรือออกประตูบานที่คนเข้าออกกันเยอะ ๆ แม้แต่น้อย เพราะประตูบานนั้นคงไม่หมดอายุการใช้งาน หรือปิดไม่ให้เข้าออก หรือแม้แต่มีสิทธิหรือส่วนลดพิเศษหยิบยื่นให้จากการเข้าออกประตูบานนั้นสักหน่อย (หรือเข้าไม่ได้ก็ไม่ตาย)

เพราะแค่เพียงถ้าเราหยุดคิดและมองให้รอบด้าน และเอามือที่ว่างของเราผลักประตูอีกบานที่ปิดอยู่ เราก็จะผ่านเข้าหรือออกจากอาคารนั้นได้โดยสะดวก ไม่เสียเวลาและเสียอารมณ์กับการแย่งกันเข้าแย่งกันออก และเราก็จะใช้ Facility ของอาคารได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับงบประมาณที่เจ้าของอาคารได้ลงทุนไว้ ตรรกะที่อยู่เบื้องหลังความคิดนี้คือคน เรามีทางเลือกในการใช้ชีวิตหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เสมอ ถ้าเราใช้เวลาคิดและพิจารณาความให้ถี่ถ้วนเสมอก่อนจะตัดสินใจทำอะไรก็ตาม แม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันก็ตาม

ถ้าเราคิดก่อนทำ เราจะมีความสามารถในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของเราเสมอ และเราก็จะได้รับแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์หรือเกิดจากความต้องการของเราเสมอเช่นกัน

นิตยสาร Builder Vol.34 AUGUST 2016

Previous articleการไปเยี่ยมชมโรงงานและศูนย์วิจัย ในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ JTEPA
Next articlePure Hot + Cool Link พัดลมอัจฉริยะแบบ 3 in 1 ควบคุมได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน
ผศ.รัชด ชมภูนิช
ที่ปรึกษานิตยสาร Builder คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์