ในชีวิตประจำวันเราสามารถพบเจอปัญหามลภาวะทางเสียง ซึ่งเกิดจากระดับเสียงที่ดังเกินความจำเป็น ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร อันจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานได้

การเดินทางของเสียงมีด้วยกัน 3 ทางคือ 1. เสียงเดินทางโดยตรงจากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับเสียง (Airborne Noise) 2. เสียงเดินทางผ่านวัสดุที่เป็นของแข็ง เช่น ผ่านทางโครงสร้างต่าง ๆ ของอาคารไปยังผู้รับเสียง (Structure–borne Noise) 3. เสียงเดินทางมาจากการสะท้อนของเสียง เช่น ผนัง พื้นเพดาน แล้วเดินทางผ่านอากาศไปยังผู้รับเสียง (Reverberant or Reflected noise)

สำหรับบ้านพักอาศัย อพาร์ทเม้นท์ มลภาวะทางเสียงมักเกิดจากเสียงดังจากถนนเข้ามาในตัวอาคารปัญหาลักษณะนี้จะต้องแก้ไขโดยการเลือกระบบของประตูหน้าต่างที่มีการซีลพิเศษสำหรับงานกันเสียงโดยเฉพาะ

สำหรับออฟฟิศสำนักงานรวมไปถึงห้องประชุมต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วปัญหาเรื่องเสียงรบกวนก็จะมาจากเสียงภายในอาคารนั่นเองมักจะใช้ฝ้าหรือผนังที่สามารถช่วยดูดซับเสียงได้ เพราะเสียงที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นเสียงจากการพูดคุยหรือเสียงจากเครื่องใช้สำนักงาน

สำหรับอาคารขนาดใหญ่นอกจากเสียงรบกวนประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สิ่งสำคัญกว่าที่ต้องมีการจัดการคือการควบคุมระบบเสียงภายในอาคารนั้น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองประเภทอาคารตามลักษณะของแหล่งกำเนิดเสียงนั่นคือแหล่งกำเนิดเสียงแบบอิเลคโทรนิค เช่น โรงภาพยนต์ และแหล่งกำเนิดเสียงแบบอะคูสติก เช่น โรงละคร หรือโรงโอเปร่า ซึ่งต้องมีการจัดการควบคุมเสียงที่ต่างกัน ในส่วนของโรงภาพยนตร์ วัสดุตกแต่งนั้นจะเป็นวัสดุที่ช่วยในการดูดซับเสียงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น พื้นพรม ฝ้าอะคูสติก หรือแม้แต่เก้าอี้ก็ล้วนเป็นวัสดุบุนวมซึ่งช่วยในการดูดซับเสียงเช่นกัน แต่สำหรับโรงละครนั้นต่างกัน เคยสังเกตหรือไม่ว่าเวลาเราร้องเพลงในห้องน้ำนั้นจะรู้สึกว่าเสียงเพราะกว่าปกติ นั่นเป็นเพราะห้องน้ำบุพื้นและผนังด้วยกระเบื้อง ทำให้เกิดการสะท้อนของเสียง เราจึงรู้สึกว่าเสียงของเราไพเราะกว่าปกตินั่นเอง โรงละครหรือโรงโอเปร่าก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยแหล่งกำเนิดเสียงนั้นเกิดจากเสียงธรรมชาติคือเสียงคน และเครื่องคนตรีที่ไม่ใช่เสียงสังเคราะห์ ยิ่งโครงการที่มีพื้นที่ใหญ่ยิ่งต้องมีการคำนวณอย่างดีว่าเสียงจากผู้แสดงนั้นดังไปถึงหูของผู้ชมทุกที่นั่งหรือไม่ ซึ่งวัสดุปูพื้นและกรุผนังส่วนใหญ่แล้วเป็นวัสดุเนื้อแข็งเพื่อช่วยในการสะท้อนเสียง ทั้งนี้ต้องมีการควบคุมทั้งค่าการสะท้อนเสียงและการดูดซับเสียงที่เหมาะสม เพราะถ้าปล่อยให้มีการสะท้อนมากเกินไปก็อาจจะเกิดปัญหาเสียงก้องเกินไปหรือเกิดเสียงซ้อนทับกันในบางจุดได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ควรรู้เพื่อสามารถเลือกใช้วัสดุกันเสียงหรือระบบกันเสียงที่เหมาะสม คือ
1. ความดังของเสียง มีหน่วยเป็นเดซิเบล (dB) ความรู้สึกเกี่ยวกับความดังจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับระดับความเข้มเสียง โดยหูของมนุษย์สามารถรับเสียงที่มีความดังน้อยที่สุดคือ 0dB และมากที่สุดคือ 120dB โดยมีค่าประมาณดังนี้ เสียงกระซิบ 30dB เสียงสนทนา 60dB เสียงคนเดินหรือเสียงเครื่องจักรงานระบบ 70dB เสียงโทรทัศน์หรือห้องโฮมเธียร์เตอร์ 80dB เสียงรถยนต์และรถบรรทุก 60-90dB เสียงเครื่องบิน 120dB โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าเสียงที่ดังเกิน 85dB นั้นมีอันตรายทั้งต่อสภาพร่างกายและจิตใจ (โดยภายใต้สเกลลอกกาลิทึมของเดซิเบล ระดับความดังของเสียงลดลง 3dB หมายถึงพลังงานเสียงจะลดลงจากเดิมถึง 2 เท่า)
2. ความถี่ของเสียง มีหน่วยเป็นเฮิรตซ์ (Hz) โดยเสียงที่มีความถี่สูงหรือเสียงแหลมสูงจะรบกวนมากกว่าเสียงที่มีความถี่ต่ำหรือเสียงโทนเดียว และจะรบกวนมากกว่าเสียงที่ประกอบไปด้วยเสียงหลาย ๆ เสียง โดยเสียงที่มนุษย์ได้ยินจะอยู่ในช่วง 20-20,000 Hz
3. Transmission Loss (TL) คือค่าการสูญเสียการส่งผ่านเสียงของวัสดุแต่ละชนิด มีหน่วยเป็นเดซิเบล (dB) ซึ่งจะมีค่าแตกต่างกันในแต่ละความถี่
4. Sound Transmission Class (STC) คือค่าเฉลี่ยของ TL ที่แตกต่างกันในหลาย ๆ ช่วงตั้งแต่ 100-4000 เฮิร์ต โดยอ้างอิงกับกราฟมาตรฐานของ ASTM E413
5. Sound Absorption Coefficient (SAC) คือ สัดส่วนของพลังงานเสียงที่ถูกดูดซับไปเมื่อชนกระทบเทียบกับพลังงานเสียงจากแหล่งกำเนิด เช่น มีวัสดุหนึ่งมีค่า SAC 0.85 นั่นก็หมายความว่าพลังเสียง 85% ได้ถูกดูดซับไว้เมื่อเคลื่อนที่ไปชนกับวัสดุนี้ และ 15% ของพลังงานที่เทียบกับแหล่งกำเนิดจะสะท้อนออกมา
6. Noise Reduction Coefficient (NRC) คือ ค่าเฉลี่ยของ SAC ที่ความถี่ 250, 500, 1000, 2000 Hz และปัดเศษให้อยู่ที่ 0.05 โดยทั่วไปค่า NRC จะต้องมีค่ามากกว่า 0.40 ถึงจะถือว่าเป็นวัสดุดูดซับเสียง

ฝ้า Ecophon รุ่น Gedina E
ฝ้า Ecophon รุ่น Gedina E

จากข้อมูลของสถาบันวิชาการด้านชีวอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในอาคารมากกว่า 90% และมลพิษภายในอาคารนั้นมีมากกว่าภายนอกอาคารถึง 100 เท่า และ 2 ใน 3 ของประชากรในประเทศไทยมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และหอบหืด โดยปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษภายในอาคารคือวัสดุตกแต่งที่ใช้ในอาคาร โดยเฉพาะฝ้าเพราะวัสดุจากฝ้ามีโอกาสหลุดร่วงลงมาได้ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้อาคาร

บริษัท แทรนดาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบผนังฝ้าและเพดานอะคูสติก มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา และออกแบบด้วยผลิตภัณฑ์อะคูสติก คุณภาพเยี่ยมจากทั้งในและต่างประเทศรวมถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้นำเข้า Ecophon (อีโคโฟน) ซึ่งเป็นแผ่นฝ้าเพดานและผนัง
ดูดซับเสียงจากประเทศสวีเดน โดยจุดเด่นของอีโคโฟนคือเป็นมิตรกับผู้ใช้อาคาร ซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย สามารถทำความสะอาดได้ และมีค่าความเป็นอะคูสติก ช่วยในการดูดซับเสียงได้ถึง 90% เหมาะสำหรับสถานพยาบาล สถานศึกษาอาคารสำนักงาน ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้อยู่อาศัย
และใช้งาน โดยเน้นในเรื่องความเป็นอะคูสติกและความปลอดภัยของผู้ใช้งาน (hygiene) เป็นหลัก

Ecophon รุ่น Gedina E แผ่นฝ้าดูดซับเสียงและกันความร้อนในตัวเดียวกัน ผลิตจาก Inorganic Wool โดยใช้ 3RD Technology และกระบวนการรีไซเคิลมากกว่า 83% และได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco-Label จาก Nordic Swan ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะได้รับรองมาตรฐาน Cleanroom Class 6/M3.5 และได้รับรองจาก
สถาบัน The Asthma and Allergic Association ว่าเป็นฝ้าที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในส่วนของพื้นผิวใช้ Akutex Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาพื้นผิวของแผ่นฝ้าให้มีความละเอียด ไม่มีรู ให้ความรู้สึกนุ่มนวลสบายตา แผ่นฝ้ามีค่าการสะท้อนแสง (Light Reflectance) สูงถึง 84% ช่วยให้ห้องสว่าง ช่วยลดการใช้งานอุปกรณ์ส่องสว่างลงได้มีค่าการกระจายแสง (Light Diffusion) สูงถึง 99% ทำให้แผ่นฝ้าไม่เป็นคลื่น แสงที่สะท้อนออกมาจากแผ่นฝ้ามีการกระจายแสงสม่ำเสมอทุกทิศทางและมีค่าความเงา (Gross) ที่น้อยกว่า 5 จึงไม่ทำให้เกิดเงามืดในบางมุม สีที่ใช้ คือ White 500 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับค่า NCS Color Sample S 0500-N ทำให้แผ่นฝ้ามีสีที่นุ่มนวลสบายตา ส่วนพื้นผิวด้านหลัง Facing ด้วย Glass Tissue เพื่อป้องกันการหลุดร่วงของเส้นใย

ได้รับการทดสอบการดูดซับเสียง ตามมาตรฐาน EN ISO 354 ทดสอบ Classification ตามมาตรฐาน EN ISO 11654 ค่าการกันเสียง : Dn,f,w= 20 เดซิเบล ตามมาตรฐาน EN ISO 10848-2 ประเมินผลตามมาตรฐาน EN ISO 717-1, CAC = 21 เดซิเบล ตามมาตรฐาน ASTM E 1414 และประเมินผลตามมาตรฐาน E 413 ค่า Sound Privacy : AC (1.5) = 180 ตามมาตรฐาน ASTM E 1111 และ E 1110 มีค่าการดูดซับเสียงสูง (NRC=0.85) และ SAA ตามมาตรฐาน ASTM C 423 อีกทั้งผลิตภัณฑ์ได้รับการทดสอบและจัดอยู่ในประเภทวัสดุไม่ลามไฟ ตามมาตรฐาน EN ISO 1182 และเป็นระบบที่ครอบคลุมการป้องกันไฟไหม้ตามมาตรฐาน NT FIRE
003 ตามคุณสมบัติทางเทคนิคของการป้องกันไฟ

นอกจากนี้สามารถทนต่อความชื้นสัมพัทธ์ได้ถึง 95% ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส โดยไม่เกิดการแอ่นตัว (Sagging) ตามมาตราฐาน ISO 4611 จึงเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยและไม่เกิดการตกท้องช้างถึงแม้จะมีการติดตั้งแผ่นฝ้าขนาดใหญ่ 1.20 x 1.20 ม. (Oversized Scale) ด้วยระบบบังใบวางบนโครงคร่าว T-Bar ทำให้สามารถติดตั้งได้ง่ายและถอดได้สะดวก และตัวผลิตภัณฑ์ยังเคลือบด้วยสารป้องกันความสกปรก จึงทำให้ฝุ่นไม่เกาะง่ายทำความสะอาดได้ง่ายโดยการปัดหรือใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือใช้ผ้าหมาด ๆ เช็ดได้ทุกสัปดาห์โดยไม่ทำให้แผ่นฝ้าเสียหาย หรือสูญเสียคุณสมบัติของความเป็นอะคูสติก

 

นิตยสาร Builder Vol.35 SEPTEMBER 2016

Previous articleสะพาน Kruunusillat ข้ามอ่าวในฟินแลนด์ ยาวที่สุดกว่า 1,000 เมตร!
Next articleอนันดาฯ ลุยหนักปลายปี เปิดรวด 6 โครงการ ตอกย้ำความแข็งแกร่ง ร่วมทุน
“มิตซุย ฟูโดซัง”
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร