ในเดือนสิงหาคมและกันยายน พ.ศ.2559 เป็นเดือนของการปะทุปัญหาการออกแบบก่อสร้างอาคารในประเทศไทย โดย สถาปนิกต่างชาติ ผู้มิได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศ กรณีปัญหาอาคารมหานครที่มีความสูง 77 ชั้น หรือเท่ากับ 314 เมตร มีพื้นที่อาคารรวม 13,500 ตารางเมตร ริมถนนสาธร

ในระบบทุนนิยม การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ของอสังหาริมทรัพย์หรืออาคาร หรือการก่อสร้าง มักขึ้นอยู่กับวิธีการ หลักการเหตุผล และบุคคล ดังต่อไปนี้
1. บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของ เจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พร้อมที่ดินที่ตั้งโครงการ
2. เงินทุน หรือสถาบันการเงิน ผู้สนับสนุนการลงทุน
3. ที่ปรึกษาหรือผู้ออกแบบที่เรียกว่า สถาปนิก วิศวกร ที่อาจเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม กรณีการว่าจ้างสถาปนิกเข้ารับผิดชอบงานออกแบบหรือควบคุมงานจะมาจากความเชื่อถือของผู้ว่าจ้างเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็มีส่วนสำคัญในการช่วยคัดเลือกสถาปนิกให้กับผู้ว่าจ้าง ดังนั้นในกรณีที่มีการจ้าง
สถาปนิกต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ออกแบบอาคารที่รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงินต่างประเทศ มักจะต้องใช้สถาปนิกที่สถาบันการเงินนั้นแนะนำด้วย นั่นคือที่มาของการทำงานประกอบวิชาชีพสถาปนิกต่างชาติในประเทศไทย
4. กฎหมาย ที่ใช้ในการควบคุมการก่อสร้าง
5. เจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย
6. ผู้ก่อสร้าง

ประเด็นปัญหา และข้อขัดข้องทางสถาปัตยกรรม ที่จะปรากฏขึ้นเมื่อมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และถือได้ว่าการดำเนินการทางสถาปัตยกรรมหรือการออกแบบก่อสร้างได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยเจตจำนงที่จะทำการก่อสร้างอาคารนั้น

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิชาชีพของสถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติ ผู้มิได้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศไทย จึงถือได้ว่ามีผลสมบูรณ์ตามบทบัญญัติการประกอบวิชาชีพของคนต่างชาติ (ซึ่งมีข้อห้ามมิให้ผู้ที่มิได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือวิศวกรตามพระราชบัญญัติสถาปนิก)

แต่เนื่องจากสถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติ ซึ่งมิได้รับอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ มิได้ลงนามในเอกสารแบบแปลนในการขออนุญาตก่อสร้างกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่จะมีสถาปนิกไทยผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ลงนามรับผิดชอบการออกแบบก่อสร้างในโครงการหรืองานทางสถาปัตยกรรมนั้น

กรณีอำนาจหน้าที่ของบุคคลหรือนิติบุคคลในกรณีที่เกี่ยวข้องกับอาคารในภาครัฐก็คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารคือ ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างเมื่อเอกสาร หลักฐาน แบบแปลน ถูกต้อง ครบถ้วน ตามข้อบังคับในกฎหมายนั้นหรือมีอำนาจไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้ หากเอกสารหลักฐานหรือแบบแปลนในการขออนุญาตขัดต่อข้อบัญญัติหรือข้อกำหนดในกฎกระทรวง
ตามอำนาจของกฎหมาย และมีอำนาจออกคำสั่งแก้ไข ระงับการก่อสร้าง หรือสั่งให้แก้ไขแบบแปลน และงานก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนดกฎหมายหรือตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต

(ปัญหาและข้อขัดข้องอันสำคัญของการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมจากสถาปนิกต่างชาติ ผู้มิได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพในประเทศไทยก็คือ ความไม่รู้เห็นหรือไม่อาจตรวจสอบ ค้นหา หลักฐานในการประกอบวิชาชีพของสถาปนิกต่างชาติ นอกจากคาดคะเนเอาจากเอกสาร หลักฐาน โดยเฉพาะแบบแปลนซึ่งมีลักษณะของรูปแบบ รูปทรงของอาคารที่มักมิได้เกิดจากความเคยชินในรูปแบบนั้นของสถาปนิกไทย)

ดังนั้นเมื่อเอกสาร หลักฐาน และแบบแปลน ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมายเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องออกใบอนุญาตก่อสร้างให้แก่ผู้ขออนุญาต ไม่ว่าจะมีข้อสงสัยหรือไม่สงสัยในเรื่องการประกอบวิชาชีพของสถาปนิกต่างชาติหรือด้วยเหตุผลอื่นใด

ครั้นเมื่อเกิดมีข้อสงสัยในเรื่องของการออกแบบโดยสถาปนิกต่างชาติ อันมีลักษณะเป็นความผิดต่อรัฐ เจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ นำคดีความขึ้นสู่ศาลสถิตยุติธรรมได้ก็เป็นเฉพาะเรื่องของความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพคนต่างชาติเท่านั้น จะดำเนินการไปถึงการฟ้องร้องให้รื้อถอนอาคารที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องก่อนแล้วไม่ได้ ขณะเดียวกันคณะกรรมการสภาสถาปนิกหรือคณะกรรมการสภาวิศวกรรมก็มิใช่ผู้เสียหายโดยตรงที่จะนำคดีดังกล่าวขึ้นสู่ศาลเช่นเดียวกัน สิ่งที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกหรือคณะกรรมการสภาวิศวกรรมดำเนินการได้แต่เพียงพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณต่อสถาปนิกหรือวิศวกรผู้ลงนามเป็นผู้รับผิดชอบในเอกสาร หลักฐาน แบบแปลน ว่าเป็นผู้ออกแบบได้เท่านั้น

สาระสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสำคัญในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง รื้อถอนอาคาร หรือคำสั่งแก้ไข ปรับปรุงอาคารที่ก่อสร้างผิดกฎหมาย หรือสั่งระงับการใช้อาคารที่มีเหตุสงสัยว่าจะเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและบุคคลเท่านั้น

เจ้าพนักงานในท้องถิ่นหาได้มีอำนาจสั่งรื้อถอนอาคารได้โดยตรง เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารนั้นเสียก่อน เมื่อการออกใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย การไม่มีเอกสาร หลักฐาน ยืนยันว่ามีการประกอบวิชาชีพของสถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติผู้มิได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะฟ้องร้องให้ศาลสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้น ศาลก็ย่อมยกคำร้องของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

ประการสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่ากรณีที่มีการก่อสร้าง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารที่ผิดบทบัญญัติ ข้อกำหนด กฎหมาย จะเกิดขึ้นโดยความผิดพลาดของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในลักษณะใดก็ตาม เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างหาได้มีความผิดหรือบทลงโทษทางกฎหมายแต่อย่างใด เช่น กรณีการออกใบอนุญาตก่อสร้างบ้านสีดำก็ดี อาคารพักอาศัยรวม 22 ชั้น ซอยร่วมฤดี อาคารศูนย์การค้านิวเวิลด์ บางลำพู ก็ดี หรืออาคารอื่นอีกเป็นจำนวนมาก
จึงไม่มีการลงโทษเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่ประการใด

การผิดกฎหมายการประกอบวิชาชีพของคนต่างชาติก็ดี ความผิดในกรณีแสดงตนเป็นสถาปนิกโดยไม่มีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพ หาใช่เหตุที่ทำให้อาคารที่มีสถาปนิกหรือวิศวกรไทยผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพนั้นผิดกฎหมายแต่อย่างไร เมื่อการก่อสร้างนั้นถูกต้องตามข้อกำหนด การจะรื้อถอนอาคารเนื่องจากมีสถาปนิกต่างชาติจึงทำมิได้

สรุปก็คือ กรณีที่ปรากฏมีสถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติประกอบวิชาชีพโดยมิได้รับอนุญาตนั้น ดำเนินการโดยมีลักษณะการมีอำนาจสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จะทำให้รัฐไทยที่ได้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตไปแล้ว โดยแลกกับการเสียดินแดนที่ควบคุมหรือคุ้มครองไปเมื่อ 100 ปีนั้นสูญเปล่า ด้วยเหตุผลของการลงนามในองค์การค้าโลกในเรื่องของการค้าเสรีหรือ AFTA ซึ่งหมายถึงการเปิดเสรีการลงทุน การเคลื่อนย้ายทุนและการค้าบริการ ประเทศไทยคงไม่อาจจะปิดกั้นการทำงานของสถาปนิกต่างชาติได้

ดังนั้นเพื่อมิให้การใช้อำนาจสิทธิสภาพนอกอาณาเขตยังคงอยู่ต่อไป สนช. หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องปรับแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องในเรื่องโดยด่วน เพื่อให้สถาปนิกต่างชาติเหล่านี้มีโอกาสได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพในประเทศไทย เพื่อจะได้มีส่วนรับผิดชอบต่อกฎหมายสำคัญตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 และ 228 อีกทั้งเพื่อลดช่องว่างอื่นอันได้แก่ ภาระภาษีรายได้บุคคลที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสถาปนิกหรือวิศวกรต่างชาติ


นิตยสาร Builder Vol.36 OCTOBER 2016

Previous article‘stu/D/O’ สู่การสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน (ตอนที่1)
Next articleHOBOT-188 หุ่นยนต์เช็ดกระจกอัจฉริยะ
อ.ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
ที่ปรึกษานิตยสาร Builder อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีพ.ศ. 2541-2543 และกรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักงานสถาปนิกทวีธา จำกัด