ใสแล้วโมเดิร์นกว่า ใสแล้วดูทันสมัยกว่า ใสแล้วดูอาร์ตกว่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลไหน ถ้าถามหาความล้ำ ความโปร่ง แวววาว การเพิ่มพื้นที่ วัสดุอย่าง “แก้ว” จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ที่สถาปนิกนำมาใช้เสมอ ด้วยคุณลักษณะพิเศษของมันที่แข็งแรง แต่โปร่งใส ดูเปราะบางแต่แข็งแรง ทำให้แก้วมีเสน่ห์

ถึงจะมองว่าใสมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนามาตลอด แถมที่มาของมันไม่ธรรมดาเลยเพราะมีอายุก่อนการตั้งคริสต์ศักราชเสียอีก เพื่อให้ชาว BuilderNews มารู้จักวัสดุเพิ่มขึ้น เรานำลองมาดูความเปลี่ยนแปลงของมันไปพร้อมกันจาก infographic จาก archdaily กันดีกว่า เลือกมาเพราะรูปเขานอกจากจะเข้าใจง่ายแล้วยังจำได้ง่ายด้วย

“แก้ว” เกิดมาก่อนพระเยซู ในดินแดนแห่งฟาโรห์

ถ้าไปหาจากหลายแหล่งข้อมูล แต่ละแหล่งจะระบุเวลาไว้ไม่ชัดเจน แต่ล้วนบอกว่า วัสดุอย่าง “แก้ว” มีมานานแล้วก่อนคริสตกาล สำหรับหลักฐานจาก infographic ชิ้นนี้ระบุเวลาชัดเจนว่า วัสดุใสชนิดนี้เกิดขึ้นในช่วง 3,500 ปีก่อนคริสตกาลในอียิปต์และทางเมโสโปเตเมียตะวันออก (ประเทศอิรักปัจจุบัน) ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ลักษณะหน้าตาจะคล้ายพวกลูกปัด เครื่องราง หรือไข่มุก

ต่อมาในช่วง 1,500 ก่อนคริสตกาลจึงมีการค้นพบเครื่องถ้วยแก้วขึ้นในอียิปต์และทางเมโสโปเตเมียตะวันออก โดยตามหลักฐานเครื่องใช้ประเภทโถหรือคนโทที่ค้นพบนั้นมีอายุตั้งแต่ 1,200 – 900 ก่อนคริสตกาล ประกอบกับการพบชิ้นส่วนของถ้วยแก้วในอียิปต์ ที่มีชื่อของฟาโรห์ Thoutmosis III ปรากฏอยู่จึงระบุเวลาไว้ในช่วงนี้

จากตำราการสร้าง “แก้ว” ถึงการใช้แก้วในโลกสถาปัตยกรรม

แม้หลักฐานวันนี้จะไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าใครกันแน่ที่ริเริ่มการสร้างวัสดุวาวอย่างแก้วขึ้นมาใช้ แต่เชื่อว่าองค์ความรู้นี้ได้ส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ นับร้อยนับพันปี เพราะ 650 ปีก่อนคริสตกาลปรากฏคู่มือบันทึกการผลิตแก้วขึ้นที่ห้องสมุดของ Assyrian King Ashurbanipal

จากเทคนิคการผลิตขั้นแรกในตำราฉบับแรก ต่อมาอีก 500 ปีกระบวนการผลิตจึงเปลี่ยนไป เพราะได้ Sirios เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมท่อเป่าแก้วขึ้น การผลิตจึงไม่เพียงแค่ง่ายขึ้น เร็วขึ้นและถูกลงเท่านั้น แต่ไม่นานนักมันยังทำให้วัสดุเครื่องแก้วทั้งหลายรุ่งเรืองในจักรวรรดิโรมันและกระจายจากประเทศอิตาลีและประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ใต้อาณานิคม

หลังจากแก้วในรูปแบบของเครื่องประดับและภาชนะมานาน พอเข้าสู่ ค.ศ. 100 “แก้ว” เปลี่ยนบทบาทจากเครื่องถ้วยไปสู่การนำมาใช้เป็นวัสดุส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดขึ้นหลังชาวโรมันสามารถคิดค้นเทคนิคการผลิตแก้วให้มีลักษณะแบบและโปร่งแสงได้ (เดิมแก้วไม่ได้มีแค่สีใสเพียงและโปร่งแสงเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่มีแบบทึบด้วย) หน้าต่างที่ผลิตจากกระจกจึงเริ่มต้นขึ้นในยุคนี้และสิ่งนี้ทำให้แก้วกลายเป็นวัสดุสำคัญของสถาปัตยกรรมสำคัญหลายแห่งในกรุงโรม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ชาวโรมันเริ่มประดิษฐ์กระจกเงาได้สำเร็จ

ศตรรษที่ 7 – 16 กระจกกลมและวัฒนธรรม Stained Glass

ขอบเขตของการพัฒนาแก้วเพิ่มขึ้นเมื่ออาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) ได้ก่อตั้งขึ้นในทวีปยุโรป ในยุคศตวรรษที่ 7 เทคนิคการผลิตแก้วเพิ่มขึ้น มนุษย์สามารถผลิตแก้วสีและสร้างเตาเผาที่หมุนได้ทำให้เกิดกระจกทรงกลม งานเหล่านี้ต้องอาศัยความละเอียดสูงจึงทำให้ขณะนั้นราคาผันไปตามความหนาบางของกระจก ส่วนหนาใช้ทำกระจกราคาถูกและส่วนบางเก็บไว้ทำกระจกที่มีมูลค่าสูง

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 8 อาณาจักรไบแซนไทน์ล่มสลายลง ศิลปะเกี่ยวกับกระจกได้กลับมาเฟื่องฟูในตะวันตกอีกครั้ง หลังเมืองเวนิสได้ช่างฝีมือจากคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ที่เป็นอดีตเมืองหลวงของไบแซนไทน์มาอยู่ร่วมด้วยจึงกลายเป็นศูนย์กลางกลางทำกระจกแห่งยุโรป ทั่วยุโรปเวลานั้นนิยมสร้างหน้าต่างกระจกสี (Stained Glass) ตามโบสถ์และวิหาร ท้ายสุดจึงกลายเป็นกระแสความนิยมที่แพร่หลายไปยังนานาประเทศทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษจนกลายเป็นธรรมเนียมนิยม ว่า “โบสถ์ใด ๆ จะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่ตกแต่งด้วยกระจกหลากสี”

Photo by culturedcreatures.co

แม้ตอนนั้นกระจกวิจิตรทั้งหลายนับว่ายอดเยี่ยม แต่กระจกก็ยังได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 16 เทคนิคที่พร้อมสรรพทำให้เราสามารถสร้างแผ่นแก้วขนาดใหญ่ผิวเรียบนำมาใช้งานได้ ซึ่งความรุ่มรวยด้านวิทยาการและความยิ่งใหญ่นี้ปรากฏหลักฐานในสถาปัตยกรรมมรดกโลก ศิลปะบาโรคสุดหรูหราอย่างพระราชวังแวร์ซายส์ และสวนในแวร์ซายส์ สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดทางด้านศิลปวิทยาการของฝรั่งเศส

ศตวรรษที่ 18-20 “แก้ว” คือวัสดุที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้

อย่างที่บอกไปว่างานที่ผลิตจากแก้วในโลกสถาปัตยกรรมส่วนมากยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ถ้าไม่อยู่ในโบสถ์ก็สถานที่สำคัญอย่างพระราชวัง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ในปี 1773 ประเทศอังกฤษกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตกระจกของโลก เหตุการณ์นี้จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการมีหน้าต่างกระจกบานใหญ่ในครอบครองได้

ภาพ The Crystal Palace ขณะไฟไหม้

พอเข้าสู้ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 บทบาทของ “แก้ว” และ “เหล็ก” ในฐานะวัสดุสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะงานเครื่องแก้วไม่ได้อยู่ในแวดวงงานคราฟต์อีกต่อไป เครื่องจักรผลิตแก้วเดินเครื่องเต็มสูบทำให้โลกของสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไป ช่วงนี้เราเริ่มได้เห็นการนำแก้วไปเป็นส่วนประกอบสำคัญอื่นของตัวบ้านอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น การทำหลังคาแก้วจาก The Galerie d’Orleans ของ the Palais Royale ในปารีสปี 1829 และ การผสาน 2 วัสดุระหว่างแก้วและเหล็กสร้างสถาปัตยกรรมระดับตำนานอย่าง The Crystal Palace หรือที่เรียกขานกันว่า “วังแก้ว” สร้างโดยมีวัตถุประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการในปี 1851 แต่คนที่อยากเห็นภาพความสวยงามของวังแก้วต่อให้เดินทางไปดูถึงลอนดอนก็คงไม่ได้เห็น เพราะมันโดนเพลิงเผาวอดไปในปี 1936 แล้ว

แม้ความสูญเสียสถาปัตยกรรมสำคัญในครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องสะเทือนใจผู้คนทั้งโลกไม่ต่างจากโบสถ์นอเทรอดามเลย แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ใช่อวสานการพัฒนาวัสดุใส เพราะหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้เพียง 14 ปี โลกก็ให้กำเนิด “แก้ว” ในฐานะวัสดุโฉมใหม่ที่เรียกว่า “กระจกโฟลต” ขึ้น โดยวัสดุชิ้นนี้เป็นกระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท สะท้อนได้ดี ฟองอากาศน้อยกว่า Sheet Glass การจัดเรียงของโมเลกุลภายในเนื้อกระจกทำได้ดีกว่าทำให้มีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป

ศตวรรษที่ 21 กับ “แก้ว” ที่เป็นมากกว่า “แก้ว”

ในที่สุดก็มาถึงยุคที่เราอยู่สักที อุตสาหกรรมแก้วที่ก้าวกระโดดทำให้ยุคของเราได้เห็นสิ่งที่เป็นมากกว่ากระจกโฟลต แก้วที่มาได้มากกว่ากระจกทรงกลมและแบน เพราะ “แก้ว” กลายเป็นวัสดุและอุตสาหกรรมที่ทำกันทั้งโลกแล้ว นวัตกรรมกระจกในยุคนี้จึงผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะที่หลากหลาย  ประเภทแบ่งได้ถึง 7 ประเภทได้แก่

  1. Double Glass หรือกระจกสองชั้น
  2. Curve Glass หรือกระจกทรงโค้ง
  3. Smart Glass หรือกระจกอัจฉริยะ
  4. Anti-flame Glass หรือกระจกนิรภัยที่กันไฟได้
  5. Anti-ballistic Glass หรือกระจกนิรภัยกันกระแทก
  6. Colored หรือกระจกย้อมสี
  7. Screen Printed หรือกระจกพิมพ์ลาย

ไทม์ไลน์ของวัสดุหนึ่งชื้นมีเรื่องเล่าและเรื่องราวมากกว่าที่คิด กว่าจะเป็นสิ่งที่ได้เห็นในบ้านเราไม่ว่าจะ Gorila Glass ในมือ แว่นสายตาที่สวม หรือกระจกสะท้อนธรรมดาที่เราใช้ส่องต้องผ่านวิธีคิดและพัฒนามาหลายชั้น นับพันปีที่ผ่านมาหลักฐานมากมายที่คนพบโชว์ว่าพลวัตที่ขับเคลื่อนในโลกวัสดุก็ไม่เคยหยุดนิ่ง พวกเราเองไม่ว่าจะเป็นชาวสถาปนิกหรือไม่ถ้าได้ซึมซับเรื่องราวเหล่านี้เข้าไป อาจจะสร้างสรรค์สิ่งอื่นในสายงานได้หรือลึกซึ้งและสนุกกับวัสดุที่รายล้อมรอบกายมากกว่าเดิม

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.archdaily.com/915760/infographic-the-evolution-of-glass

http://www2.mtec.or.th/th/research/gsat/glassweb/history.html

https://www.wazzadu.com/article/1299

Previous articleห้องสมุดเคลื่อนที่รูปเต่าทอง ดีไซน์เพื่อการแบ่งปัน
Next articleหมู่บ้านจากขวดพลาสติก นวัตกรรมก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม