เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ชาวกรุงก็มักจะพบกับปัญหาสายฝนเทกระหน่ำลงมาจนเกิดน้ำท่วมขังตามถนนเป็นประจำทุกปี ด้วยเหตุนี้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่คอยดูแลคุณภาพชีวิตของชาวกรุงอย่างท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งดำเนินโครงการสร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำภายในเมือง โดยปัจจุบันนี้ก็ได้มี อุโมงค์ระบายน้ำ ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นจำนวน 7 แห่ง แต่หลายท่านก็ยังแคลงใจสงสัยว่าอุโมงค์ดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพเพียงไร ตั้งอยู่บริเวณไหน และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังได้มากหรือน้อยเพียงใด ด้วยเหตุนี้จึงขอนำข้อมูลอุโมงค์ระบายน้ำที่ใช้งานอยู่ ณ ปัจจุบัน รวมถึงโครงการก่อสร้างอุโมงค์เพิ่มเติมในอนาคตมาทำเสนอให้ได้ทราบทั่วกัน

เนื่องจากท้องที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครล้วนเป็นพื้นที่ต่ำ การระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยปล่อยให้ไหลออกตามธรรมชาติจึงทำได้ยากลำบาก ทางภาครัฐจึงริเริ่มโครงการ อุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังตามท้องที่ต่างๆ ให้เร็วที่สุด โดยเป็นการสูบน้ำจากคลอง หรือบึง ในกรุงเทพมหานครไหลลงอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อระบายมวลน้ำอันมหาศาลสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรือลำน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน ส่งผลให้มีการสร้างอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำแห่งแรกขึ้นที่บริเวณพระรามเก้า-รามคำแหง และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

อุโมงค์ระบายน้ำ
ภาพประกอบจาก www.realist.co.th

แต่เนื่องจากอุโมงค์ระบายน้ำหนึ่งแห่งสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ในพื้นที่เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมทั่วทั้งเมือง จึงได้มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขึ้นอีกหลายท้องที่ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ได้มีอุโมงค์ระบายน้ำใช้งานเป็นจำนวน 7 แห่ง ประกอบกับโครงการก่อสร้างที่จะเสร็จสิ้นตามมาในอนาคตอีก 5 แห่ง รวมถึงยังได้สร้างสถานีสูบน้ำเพื่อยกระดับการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้จุดที่อุโมงค์ระบายน้ำก่อสร้างล้วนเป็นเขตท้องที่สำคัญและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักทั้งสิ้น

สำหรับอุโมงค์ระบายนั้นทั้ง 7 แห่งที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนั้น มีความยาวรวม 19 กิโลเมตร พร้อมด้วยศักยภาพการระบายน้ำรวมกันที่ 155.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งประกอบไปด้วย

1. อุโมงค์ระบายน้ำและสถานีระบายน้ำซอยสุขุมวิท 26 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1เมตร และยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณท้องที่ถนนสุขุมวิทซอย 26 รวมไปถึงบริเวณใกล้เคียงอย่างซอยสุขุมวิท 22-28

2. อุโมงค์ระบายน้ำและระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.4 เมตร และความยาวประมาณ 1.88 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานครในเขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ บางเขน และดอนเมือง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร

3 .อุโมงค์ระบายน้ำพื้นที่เขตพญาไท มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร บนความยาวประมาณ 679 เมตร และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร ที่ความยาวยาวประมาณ 1.9 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 4.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตพญาไท ถนนพหลโยธินบริเวณซอย 5-11 และถนนพระราม 6 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร

I252-22
ภาพประกอบจาก www.realist.co.th

4. อุโมงค์ระบายน้ำและสถานีระบายน้ำซอยสุขุมวิท 36 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร ยาว 1.32 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในถนนสุขุมวิทและบริเวณซอยสุขุมวิท 36

5. อุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำซอยสุขุมวิท 42 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร และความยาวประมาณ 1.1 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในถนนสุขุมวิทและซอยสุขุมวิท 42

6. อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.6 เมตร และความยาวประมาณ 5.98 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่วัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง โดยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร

7. อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง (อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร และความยาวประมาณ 5.11 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยอุโมงค์นี้เป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์แห่งแรกที่สร้างเสร็จตามโครงการ มีความสำคัญในฐานะแหล่งรองรับปริมาณน้ำจากคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร

I252-11
ภาพประกอบจาก www.realist.co.th

ส่วนงานก่อสร้างอีกหนึ่งโครงการที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ คืออุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ซึ่งทำหน้าที่รองรับน้ำจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร บนความยาวทั้งสิ้นประมาณ 6.4 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที บรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังของพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง เป็นพื้นที่ครอบคลุม 56 ตารางกิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีโครงการณ์อุโมงค์ยักษ์อีก 4 แห่งที่ กรุงเทพมหานครกำลังวางแผนสร้าง ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานออกแบบและพิจารณาโครงสร้าง ประกอบไปด้วย 1. อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 2. อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 3. อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา และ 4. อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี โดยเมื่อโครงการทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะช่วยระบายน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่รอบเมืองได้ดียิ่งขึ้นไปอีก

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีอุโมงค์ระบายน้ำที่ใช้งานอยู่ถึง 7 แห่ง แต่ปัญหาน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักก็ยังมีให้พบเห็นเรื่อยไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุโมงค์ทั้งหมดนั้นครอบคลุมพื้นที่ระบายน้ำเพียงบางจุด ยังไม่สามารถระบายน้ำได้ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่รวมมากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งยังประสบกับปัญหาขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำรวมไปถึงสถานีสูบน้ำ อย่างเช่นสถานีสูบน้ำบริเวณอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง มักพบเศษขยะลอยมาติดมากถึง 4 ตันต่อวันเลยทีเดียว หรือแม้กระทั้งโซฟาก็เคยลอยติดมาแล้วเช่นกัน ส่งผลให้การระบายน้ำผ่านอุโมงค์นั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาจุดนี้ต้องช่วยกันแก้ไขโดยประชาชนต้องงดทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ ส่วนภาครัฐก็ต้องหาทางกำลังจัดให้มีประสิทธิภาพ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วต่อให้สร้างอุโมงค์ระบายน้ำมากขึ้นเพียงไรก็จะประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ดี และหากปัญหายังเรื้อรังต่อไปก็คงถึงคราวที่คนกรุงจะต้องอพยพหนีน้ำขึ้นไปอยู่บน “ดอย” อย่างแน่นอน

I252-20-1
ภาพประกอบจาก www.realist.co.th
EyWwB5WU57MYnKOvjurcWicEcBGFWwdZPv9t8csBLpynrB23vkkH9S
ภาพประกอบจาก www.thairath.co.th

source : realist, bangkok, thairath, tnamcot, mcot

 

Previous articleร่วมปีนป่ายสุดหวาดเสียว บนจุดชมวิวที่ท้าทายแรงดึงดูดโลก!
Next articleอนันดาฯ ปลุก Passion คนเมือง
เปิดตัว Online Film ชุด #Live with Passion
วีรศักดิ์ ประสพบุญ
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านรถเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม