จากครั้งที่แล้วที่ได้นำเอาเรื่อง Biophilic Design มาเล่าสู่กันฟังถึงที่มาของแนวคิดนี้ ในครั้งนี้ผมจะนำเอากรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของแนวทางการออกแบบที่ผสานเข้ากับชีวิตต่าง ๆ ให้ท่านผู้อ่านเผื่อได้นำเอาไปใช้ในงานออกแบบกัน ซึ่งผมจะขอสนับสนุนเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้จากที่ได้ว่าไปในตอนที่แล้ว การออกแบบด้วยแนวคิด Biophilic จะช่วยให้ผู้อาศัยในอาคารมีคุณภาพ
ชีวิตที่ดีขึ้นจากความที่เราใส่ใจในธรรมชาติที่อยู่กับเรา ก็จะทำให้คนหรือผู้ใช้อาคารได้รับผลที่ดีทั้งในทาง
ด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เราใช้เวลามากกว่า 90% ภายในอาคาร

โครงการออกแบบที่ใช้แนวคิด Biophilic ที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ Biophilic Cities Project (http://biophiliccities.org/) เป็นการนำเสนอการออกแบบอาคารและเมืองโดยอาศัยแนวคิด Biophilic โดย University of Virginia School of Architecture ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ซึ่งมีเครือข่ายเมืองและชุมชนเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง ซึ่งผลที่เกิดนั้นก็มีโครงการออกแบบและก่อสร้างหลากหลายกันไป ท่านผู้อ่านลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของโครงการนี้ได้ และหากท่านผู้อ่านเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบของชุมชนหรือท้องถิ่นต่าง ๆ ก็น่าจะลองเข้าไปดูนะครับ ตัวอย่างที่จะขอยกมาให้ท่านผู้อ่านลองดูเป็นน้ำจิ้มก็เช่น

1.) เมืองที่เป็นมิตรกับนก (Bird-friendly City)

1.1แนวคิดของ Biophilic ที่ทำให้นกสามารถอยู่ในเมืองได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าแต่ละวันมีนกตายจากการบินชนกระจกมากมาย ซึ่งในสหรัฐนั้นก็รวมกันได้นับหลายล้านตัวเลยทีเดียว สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกบินมาชนกระจกเพราะเราเลือกใช้กระจกที่สะท้อนสีของท้องฟ้าอย่างชัดเจน อาจจะเพราะความสวยงามของอาคาร แต่ก็กลับกลายเป็นตัวการที่ฆ่านกไปอย่างมากมาย สำหรับการแก้ไขปรับปรุงหรือจะออกแบบอาคารเพื่อที่จะเป็นมิตรกับนกนั้น ในเว็บไซต์ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า

– ออกแบบให้ลดพื้นที่สะท้อนของกระจก หรือทำให้บานกระจกเป็นผืนที่เล็กลงโดยการใช้ระแนงหรือวงกบหรือกันสาดหรือชุดอุปกรณ์กันแสงแดด (Sunshade) ต่าง ๆ ที่เป็นเส้นเข้ามาประกอบในการออกแบบ ซึ่งจะช่วยให้นกเห็นว่าผืนกระจกไม่ใช่ท้องฟ้า
– ลดการสะท้อนของกระจก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟิล์ม การมีม่านหรือมู่ลี่ ที่ทำให้เห็นความแตกต่างจากท้องฟ้าได้
– การลดแสงในเวลากลางคือ (Night-time dimming) คือลดแสงที่กระจายไปทั่วทั้งดวงโคมที่ส่องขึ้นฟ้า (Diffuse Light) หรือดวงโคม Spotlight

2.) เมืองที่ให้ความสำคัญกับน้ำ (Blue Urbanism)

1.2เมืองโดยส่วนใหญ่ในโลกก็ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ คลอง ทะเลสาบ รวมถึงตั้งอยู่ริมทะเล และมหาสมุทร แต่เมืองโดยส่วนมากก็ไม่ได้ใส่ใจต่อคุณภาพหรือแม้แต่การมีอยู่ของน้ำ ทำให้ตลอดการเติบโตของเมืองนั้น คุณภาพของน้ำที่อยู่ในเมืองก็เสื่อมโทรม เน่าเหม็น เหมือนที่เกิดกับกรุงเทพฯของเรานี่เอง แนวคิดของ Blue Urbanism นั้นคือการออกแบบเพื่อให้คนในเมืองได้มองเห็น ใส่ใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับผิวน้ำของเมือง ไม่ได้มองน้ำในฐานะของทางระบายน้ำฝนหรือทางเดินของน้ำเพียงอย่างเดียว ซึ่งผิวน้ำจะถูกนิยามว่า Urban Blue หรือ “all visible surface waters in urban areas” ซึ่งการออกแบบตามแนวทาง Biophilic ก็คือการทำให้ Urban Blue นั้น ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของคนในเมืองต่อสุขภาวะ และก่อให้เกิดภูมิทัศน์ที่สวยงามที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้อาศัยในเมืองนั้น ๆ ตัวอย่างของการออกแบบและปรับปรุงเมืองตามแนวคิดนี้ก็เช่น การปรับปรุงทางน้ำให้ใช้ประโยชน์และสร้างกิจกรรมหรือกีฬาในน้ำ เช่น การเล่นกระดาน (board) บนน้ำ การออกแบบตลิ่งให้สวยงามและเข้าถึงน้ำได้ เป็นต้น

3.) Unexpected Nature in the City

1.3แนวคิดนี้คือการสร้างธรรมชาติอย่างที่คาดไม่ถึงในพื้นที่เมือง ซึ่งคำว่าคาดไม่ถึงนี้คือหมายถึงธรรมชาติแบบ “ดิบ” หรือบริสุทธิ์มากจนคนไม่คิดว่าจะมีอยู่ในเมืองได้ ซึ่งไม่ใช่แค่สวนสาธารณะหรือการทิ้งพื้นที่สีเขียวไว้แค่นั้น แต่รวมถึงการสร้างหรือฟื้นฟูธรรมชาติต่าง ๆ และนอกจากนี้ยังรวมถึงการมีธรรมชาติแบบไม่คาดคิดในมิติอื่น ๆ เช่นการมีแปลงผักอยู่ริมทางเท้า การสร้างเส้นทางเดินให้สัตว์เดินผ่าน การสร้างสวนแนวตั้งขนาดใหญ่ในเมือง ฯลฯ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้คนในเมืองได้มองเห็นว่า ธรรมชาติกับเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันและต้องช่วยกันรักษา และผลที่ได้ก็คือคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองดีขึ้นในที่สุดนั่นเอง

1.5

แม้ว่าตัวอย่างที่กล่าวมาทั้ง 3 อย่างนั้น จะดูเป็นเรื่องของ “เมือง” หรือมีความเชื่อมโยงกับคนจำนวนมาก แต่ผมเห็นว่า จุดเริ่มต้นที่เหมือนกันของตัวอย่างในแนวคิดของการออกแบบ Biophilic คือการมีความตระหนักของผู้ออกแบบที่จะผสานธรรมชาติเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ทั้งเพื่อรักษาและส่งเสริมธรรมชาติให้ดีและคงอยู่ และให้ธรรมชาติทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งผลที่ได้จากแนวคิดและความตระหนักนั้นนำมาสู่การปฏิบัติที่ช่วยให้เมืองและสังคมโดยรวมดียิ่งขึ้นไปนั่นเอง

นิตยสาร Builder Vol.31 MAY 2016

อ่าน:
Biophilic Design (ตอนที่ 1)
Biophilic Design (ตอนที่ 3)

Previous articleหมดห่วงเรื่องภัยอันตราย ไว้ใจ Smanos อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยภายในบ้านอัจฉริยะ
Next articleWINDSOR “SMART Series” นวัตกรรมประตูและหน้าต่างสุดล้ำ ประสิทธิภาพสูง ราคาย่อมเยา
ดร.อรช กระแสอินทร์
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาด้านการออกแบบ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์