ก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวและรับมืออย่างไรดี? คือคำถามยอดนิยมของหลายท่านหากท่านเป็นองค์กรภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจผู้ผลิตสินค้าและบริการในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นวาระแห่งชาติอีกครั้งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนของหน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามาร่วมมือกันสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถไปสู่ฝั่งฝัน และไม่ให้องค์กรของตนต้องตกขบวนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในครั้งนี้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาในระดับสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยสร้างแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) ที่มีการบูรณาการ และพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักการและแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อไม่ให้การตอบสนองความต้องการในปัจจุบันทำลายโอกาสของลูกหลานหรือคนในอนาคต ที่จะได้มีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ผ่านการทำงานและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมโดยโปรแกรม ITAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เพื่อให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่กำลังเตรียมตัวรองรับการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศไทย โดยการสนับสุนและส่งเสริมให้ดำเนินโครงการ UPCYCLE CARBON FOOTPRINT ซึ่งโปรแกรม ITAP มีคณะผู้เชี่ยวชาญในโครงการเพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจในตลาดผลิตภัณฑ์อีโค่ โดยการติดฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายบางส่วนของค่าที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่มีความต้องการจะติดฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อช่วยทำการตลาดอีโค่ โดยจะเริ่มจากการประเมินปริมาณของเสีย, การหาแนวทางในการพัฒนาเศษวัสดุ และการออกแบบผลิตภัณฑ์อีโค่ เพื่อสร้างความพร้อมในการเข้าสู่การรับการประเมินอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อนำไปสู่การติดฉลากอีโค่ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

เป็นที่ทราบกันว่า ปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีโค่ ถือเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้ประกอบการที่เกาะติดกับกระแสลดโลกร้อน, สินค้ารักษ์โลก ซึ่งหากผู้ระกอบการใดที่ต้องการผลิตภัณฑ์อีโค่สามารถติดต่อมาที่โครงการฯ นี้ได้ เพื่อจะขอรับการสนับสนุนในการร่วมกันสร้างสรรค์กระบวนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรวมถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมทั้ง การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ การเกิดมลพิษและของเสีย ซึ่งหากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ด้วยการแสดงข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการรับประกันคุณภาพสินค้าเชิงคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินเลือกซื้อให้กับผู้บริโภคแนวอีโค่

หากท่านคือ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการสู่ผู้บริโภค ท่านเคยทราบหรือไม่ ว่าในการผลิตสินค้าและบริการของท่าน องค์กรของท่านได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และอย่างไร และท่านทราบหรือไม่ว่า มีหน่วยงานที่สามารถช่วยท่านตอบคำถามเหล่านี้ได้หากท่านคือผู้ประกอบการที่มีความสนใจที่ต้องก้าวเข้าสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อีโค เพื่อประกาศความเป็นธุรกิจสีเขียวที่มีการความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การ ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อ ลดผลกระทบทางลบของผลิตภัณฑ์ หรือเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้นโดยให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลงมากที่สุด ทั้งนี้เพราะธุรกิจสีเขียวก็ยังคงเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของหลากหลายบริษัท ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องการสูญเสียธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยังคงได้ยินอยู่บ่อยๆ การทำธุรกิจสีเขียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจนั้นปรากฏถึงจุดยืนด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นท่ามกลางคู่แข่งได้เป็นอย่างดี และการนำเสนอการโฆษณาสินค้าสีเขียวนั้นก็ยังคงทรงพลังต่อผู้บริโภคอยู่เสมอ และอีกด้านหนึ่งธุรกิจสีเขียวนั้นหมายถึงการใช้และบริหารทุกทรัพยากรให้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า เคียงคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจ และภาพพจน์อันดีต่อสังคมชุมชนที่ได้รับการจัดการที่ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย

จากคำว่า ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ผู้เขียนขอนำเสนอให้ผู้อ่านได้รู้จักกับคำว่า “อัพไซเคิล” โดยขอให้ความหมายสั้นๆ ของคำว่า “อัพไซเคิล” ว่าเป็นกระบวนการนำเอาเศษวัสดุมาออกแบบเชิงสร้างสรรค์เป็นวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิมหรือเทียบเท่า โดยใช้กระบวนการที่ไม่ซับซ้อนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ช่วยเพิ่มมูลค่าของเสีย และส่วนของคำว่า “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” นั้นเป็นการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูป การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสีย หลังหมดอายุการใช้งาน ตลอดจนบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ซึ่งการอัพไซเคิลนี้ถือว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งที่จะช่วยลดโลกร้อน และลดฟุตพริ้นท์ของวัสดุลงจากการสามารถนำเอาเศษวัสดุมาออกแบบเชิงสร้างสรรค์เป็นวัสดุใหม่นั่นเอง และนี่ถือเป็น “นวัตกรรมระดับโลก” และถือเป็นความภูมิใจของคนไทยที่ได้พัฒนา “ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์” มาใช้เป็นครั้งแรกในโลก นั่นหมายถึงประเทศไทยคือผู้ริเริ่มและพัฒนา“ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์” โดยการร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนด้านเทคนิคในการพัฒนาข้อกำหนดจากการต่อยอดและบูรณาการจาก มาตรฐานจีอัพไซเคิล (G-Upcycle) ของ สส. และ มาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) ของ อบก. เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาด ซึ่งช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงตอบรับกระแสธุรกิจสีเขียว เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและลดโลกร้อน ผลที่ได้รับคือ จะเกิดกระบวนการจัดการของเสียด้วยการลดการเกิดของเสียที่แหล่งกำเนิด, การนำมาใช้ซ้ำ และการนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการของเสีย ตลอดจน การส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในที่สุด

สำหรับข้อกำหนดสำหรับการขอรับรองเพื่อติด “ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์” แบ่งเป็น 5 ข้อ ได้แก่

(1) ต้องมีสัดส่วนเศษวัสดุต่อชิ้นงาน อย่างน้อยร้อยละ 20 โดยน้ำหนักของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลรวม

(2) ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีและกระบวนการอัพไซเคิล ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจก

(3) ต้องมีการควบคุมคุณภาพเพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพของวัสดุและผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม เหมาะสมต่อการใช้งาน

(4) ต้องพัฒนาวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล โดยใช้การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ สร้างคุณลักษณะที่แปลกใหม่ที่ผนวกความสวยงาม

(5) วัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล ต้องมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้ (จากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้จากการฝังกลบเศษวัสดุที่ใช้ในวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล รวมกับ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลีกเลี่ยงได้จากการผลิตวัสดุใหม่หากไม่นำเศษวัสดุมาใช้ในวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ อัพไซเคิล) มากกว่า ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลตลอดวัฏจักรชีวิต

ปัจจุบันมีวัสดุและผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์จาก 21 บริษัทนำร่อง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิค จากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม และความช่วยเหลือด้านการออกแบบ จากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มก. ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก สวทช., และ สส. ซึ่งครอบคลุมหลากหลายวัสดุและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน สิ่งทอ และ แฟชั่น โดยพบว่าสามารถเพิ่มมูลค่าของเสียได้สูงถึง 3-30 เท่า และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 10 กรัม – 283 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อผลิตภัณฑ์ (ชิ้น) และนี่คือคำตอบของการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจผลิตภัณฑ์อีโค่ โดยการใช้ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาเป็นตัวช่วย ซึ่งถือเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเลยก็ว่าได้ เพราะที่ผ่านมาพบว่า

(1) ผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์อีโค่ มีคำถามจากผู้ซื้อว่า “จะรู้ได้อย่างไร ว่าเป็นผลิตภัณฑ์อีโค่” จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทำมาจากเศษวัสดุจริงๆ

(2) ผู้ประกอบการมีความสนใจที่จะดำเนินการต่อยอดจากการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล ควบคู่ไปกับการติดฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าภายใต้เงื่อนไขการสั่งซื้อว่าต้องมีฉลากอีโค่เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม

(3) ผู้ประกอบการต้องการสร้างความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์อีโค่ที่มีอยู่แล้วในตลาดผลิตภัณฑ์อีโค่

(4) ผู้ประกอบการต้องการเพิ่มโอกาสทางการตลาดจากนโยบายการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) ที่กำลังมีการดำเนินการในทั่วโลกทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน

ในการดำเนินโครงการฯ มีผู้เชี่ยวชาญจาก 2 ฝ่าย คือ ผศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ VGREEN (Centre of Excellence on enVironmental strategy for GREEN business หรือ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยท่านเป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการไทยเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและลดโลกร้อน” ซึ่งริเริ่มโครงการดังกล่าวร่วมกับโปรแกรม ITAP และผู้เชี่ยวชาญหลักของโครงการฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ท่านได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “จุดเด่นของผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล คือ ช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการฝังกลบเศษวัสดุที่ใช้ในวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล และ จากการผลิตวัสดุใหม่หากไม่นำเศษวัสดุมาใช้ในวัสดุหรือผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลเป็นจุดขายได้อย่างยอดเยี่ยมเพราะทั่วโลกกำลังให้ความสนใจผลิตภัณฑ์อีโค่ที่ช่วยลดโลกร้อน ”

และผู้เชี่ยวชาญฝ่ายที่ 2 คือ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งดูแลในส่วนของโครงการ Upcycling Design ซึ่งช่วยโปรแกรม ITAP, สวทช. ในการผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรมการจัดการเศษเหลือใช้และของเหลือใช้/ของเสียจากการผลิต ท่านได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “ผมไม่เคยคิดว่าของเสียเหล่านี้เป็นของเสีย แต่กลับคิดว่ามันเป็นวัสดุที่มีค่า … การเพิ่มมูลค่าของเสียด้วยการอัพไซเคิล เป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่สู่นวัตกรรมการจัดการของเสีย ฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นการการันตีว่าทำมาจากเศษวัสดุจริง มีคุณภาพได้มาตรฐาน เหมาะสมต่อการใช้งาน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ รับรองว่าขายได้แน่ๆครับ”

ในบทความต่อไป จะเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของ Showcase จากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการติดฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เกี่ยวกับการออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและเกร็ดในการขอรับรองฉลากอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และหากผู้ประกอบการท่านใดสนใจจะขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ เพื่อจะผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบรับกระแสธุรกิจและตอบโจทย์การจะเข้าสู่ธุรกิจสังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ผู้เขียนโดยตรง (ชนากานต์ สันตยานนท์ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1381, อีเมล์ [email protected])

777โดย ชนากานต์ สันตยานนท์ ([email protected])
ตำแหน่ง ที่ปรึกษาอาวุโส
โปรแกรม ITAP
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

Previous articleเคเอเอ็นฯ คลื่นลูกใหม่วงการอสังหาฯ ลุยเปิด Ease park
คอมมูนิตี้มอลล์ เจาะกลุ่มลูกค้าย่านรามอินทรา
Next articleอัพเดทนวัตกรรมประจำเดือนตุลาคม 2016
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร