พลังงานจากแสงอาทิตย์ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษ มีศักยภาพสูง เหมาะกับการใช้งานในประเทศที่มีแดดจัดเหมือนบ้านเรา จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ บ้านโครงการเริ่มหันมาติดตั้งแผงโซลาเซลล์กันเป็นจำนวนมาก

แต่ก่อนนั้น การติดตั้งแผงโซลาเซลล์เป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนยังไม่ให้ความนิยมเท่าไหร่นัก เพราะค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ข้อจำกัดของหลังคาบ้านหรืออาคารต่าง ๆ แต่ปัจจุบันราคาลดลงอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นแผงโซลาเซลล์ตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่หันมาใช้แผงโซลาเซลล์เพื่อเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานที่ใช้งาน เช่น แบตเตอร์รี่สำรอง ไฟหน้าบ้าน เป็นต้น

โคมไฟก็เป็นหนึ่งในไอเทมที่เหมาะกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างมาก เพราะโคมไฟที่ใช้ถ่านเมื่อถ่านหมดก็จะเกิดขยะทางอิเล็กทรอนิก ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

โคมไฟของ Luis Fernando Sánchez Barrios ทำจากโคลน, กระดาษรีไซเคิล และยางจากต้นกระบอกเพชร

ผลการสำรวจในปี 2019 ระบุว่า ประชากรในเม็กซิโกกว่า 1.8 ล้านคนอยู่อาศัยโดยไร้แสงสว่าง และเกือบ 7 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าเลยด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กลุ่มนักเรียนจากสถาบัน Tecnológico de Monterrey ประเทศเม็กซิโกจำนวน 6 คน ได้ออกแบบโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะช่วยให้หลาย ๆ ครอบครัวได้เข้าถึงแสงสว่าง โดยวัสดุที่ใช้ทำนั้น ก็เป็นวัสดุทั่วไปที่สามารถพบได้ตามพื้นที่ชนบท เช่น หวาย เปลือกมะพร้าว อิฐ คอลลาเจน และถั่วดำ นำมาประกอบเป็นโคมไฟและติดเข้ากับแผงโซลาเซลล์และหลอดไฟ LED

โคมไฟของ Rafael Sánchez Brizuela ทำจากกะลามะพร้าว

กลุ่มนักเรียน 6 คน ได้แรงบันดาลใจจาก Olafur Eliasson โปรดักส์ดีไซน์เนอร์ที่ออกแบบโคมไฟได้โดนใจพวกเขาอย่างมาก ประกอบกับปัญหาด้านการเข้าถึงไฟฟ้าของประชากรในแถบชนบทของประเทศเม็กซิโก จึงเป็นที่มาของการทำโปรเจกต์นี้

Naoto Ricardo Kobayashi Utsumoto ใช้เศษกระดูกจากเศษอาหารทำเป็นโคมไฟ

“เราเห็นว่าโคมไฟที่เคยสร้างมาแต่ก่อน ก่อมลพิษและสร้างขยะเป็นจำนวนมาก ด้วยตัววัสดุเองก็ดี จึงทำให้พวกเราต้องการใช้วัสดุรูปแบบใหม่ที่หาง่าย ไม่เป็นมลพิษ กระบวนการผลิตต้องไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ต้องไม่ใช้พลาสติก วัสดุตามธรรมชาติจึงเป็นทางเลือก เมื่อโอกาสมาถึง เราก็ไม่รีรอที่จะคว้ามันไว้” Hernández ผู้นำในกลุ่มนักเรียน 6 คนกล่าวถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจ

Viridiana Palma Dominguez หยิบเอาขยะจากโรงงานเป็นวัสดุหลัก

Oscar Andrés Méndez Hernández ใช้ถั่วดำในการสร้างโคมไฟ

Aniela Mayte Guerrero Hernández ใช้จักสานกับวัสดุธรรมชาติในการสร้าง

เมื่อพวกเขาผลิตเสร็จจะนำส่งมอบให้กับกลุ่มครอบครัวที่ขาดแคลนแสงสว่าง เพราะแสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิต หากไร้แสงสว่างก็จะขาดเรื่องความปลอดภัย และการใช้วัสดุใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่จะลดในเรื่องของการใช้วัสดุสิ้นเปลือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างแน่นอน

ด้วยแนวคิดเรื่องวัสดุประกอบกับปัญหาด้านสังคม ผลผลิตที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ ปัจจัยพื้นฐานเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ สิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ทั้งใส่ใจสิ่งแวดล้อมและส่งมอบสิ่งดี ๆ สู่สังคมที่ขาดแคลนปัจจัยดังกล่าว

 

Project Info:

Name: Solar Lamps

Design Direction: Moisés Hernández

Students: Luis Fernando Sánchez Barrios, Oscar Andrés Méndez Hernández, Rafael Sánchez Brizuela, Naoto Ricardo Kobayashi Utsumoto,  Viridiana Palma Dominguez, Aniela Mayte Guerrero Hernández

Photography: Luis Fernando Sánchez Barrios

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://bit.ly/375qSql

https://bit.ly/3cCdzz5

https://bit.ly/2UfxfCx

Previous article“Red Zip-Lock” ทางออกของการทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ในช่วง COVID-19
Next articleCapri Holdings กับการกลับมาเปิดสโตร์แบรนด์ในเครือทั่วโลก
พร้อมขั้นตอนป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในร้าน
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ