359 ตัน คือ จำนวนพลาสติกที่เราผลิตได้ต่อปี และขยะพลาสติกกระจายไปทุกที่ตั้งแต่บนเขายันมหาสมุทร ทว่าสัดส่วนของการนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำมีน้อย เฉพาะในอังกฤษ ขยะพลาสติก 5 ล้านตันต่อปีจะเอากลับมารีไซเคิลได้แค่ 370,000 ตัน เทียบแล้วแค่ 7% เท่านั้น

พวกเราคิดว่า “พลาสติก” มันแย่ เพราะรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบกำลังโดนห่อด้วยพลาสติก พลาสติกทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ อีก ทุกที่ที่มันไปอยู่ไม่ว่าจะในร่างสิ่งมีชีวิตหรือการฝังกลบใต้ดิน ตรงไหนก็ได้รับผลกระทบกันไปหมด แต่เวลาเดียวกันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พลาสติกเองก็ยังจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน

ง่ายที่สุดคือถ้าไม่มีพลาสติก ข้าวของที่ต้องกันน้ำเข้า กันน้ำออก หรืออย่างน้อย ๆ การทิ้งขยะในบ้านเราก็คงยากมาก ๆ

BuilderNews ขอให้คุณลองวางอคติลงก่อน แล้วหันกลับมาคิดทบทวนอีกทีว่า เราไม่ชอบพลาสติกเพราะอะไรกันแน่ และหลังจากอ่านสรุปบทความด้านล่างจาก Future Planet ของ BBC ที่เขียนโดย Sibele Cestari นักวิทยาศาสตร์วัสดุโพลีเมอร์ คุณจะรู้ว่าเรากำลังมองข้ามบางอย่างไป และถ้ารู้วิธีจัดการ “พลาสติก” ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น

เหตุผลที่เราเกลียดพลาสติก

จำได้ไหมว่า “ทำไมเราถึงเกลียดพลาสติก”

เราเกลียดความยืดหยุ่น ความเหนียวของมัน

เราเกลียดน้ำหนักเบา ๆ

เราเกลียดความแข็งแรงทนทาน ทนทานทั้งเคมีและกรด

เราเกลียดความโปร่งแสง

เราเกลียดที่มันกันการซึมผ่านของน้ำได้

เชื่อเถอะว่าเราไม่ได้เกลียดคุณสมบัติมากมายข้างบนนั้นหรอก เพราะปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การใช้งาน แต่อยู่ที่เราไม่สามารถหาวิธีจัดการที่เหมาะสมได้ เหตุผลหลัก ๆ คือ “ย่อยไม่ทัน” เราไม่ได้รีไซเคิลมันเหมือนขยะชิ้นอื่น ครั้นจะโยนไปฝังกลบง่าย ๆ ระยะเวลาย่อยสลายของมันก็น๊านนาน ชนิดว่าตายแล้วเกิดใหม่อีกหลายชาติก็ยังไม่ย่อย

 

เรื่องจริงของพลาสติกกับการรีไซเคิล

ของใช้แล้วจะดีเหมือนของผลิตใหม่ไหม?

ก่อนอื่นใครที่พอจะรู้เรื่องกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก และเข้าใจเรื่องโพลีเมอร์อยู่บ้างจะรู้ว่าพอนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้งาน การใช้งานจะไม่เหมือนเก่าเพราะคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุ (ความแข็ง ความแข็งแรง ความเหนียว ฯลฯ) จะลดลง ไม่เท่าพลาสติกบริสุทธิ์ตอนผลิตครั้งแรก เหตุผลเพราะการแปรรูปทำให้โซ่โพลีเมอร์ย่อยสลาย

เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องจริง แต่อีกด้านคือ ถึงแม้ว่าโซ่โพลีเมอร์จะหายไป เราก็กู้คืนได้ด้วยการเติมสารเติมแต่งหรือพลาสติกบริสุทธิ์เข้าไป ตรงนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะอุตสาหกรรมพลาสสิกประเภท PET ก็รีไซเคิลขวดน้ำอัดลมกันได้สำเร็จด้วยวิธีเดียวกันไปแล้ว

ส่วนที่เหลือจากกระบวนการรีไซเคิลในทางเทคนิคก็ยังนำไปแปรรูปสร้างวัสดุใหม่เพื่อใช้ต่อได้ ไม่ได้ทิ้งลงไปทำลายแหล่งธรรมชาติอย่างที่เข้าใจ เช่น ขยะพลาสติก นำมาหั่นย่อย ๆ แล้วสามารถใช้ผลิตฟิลเลอร์สำหรับยางมะตอยได้ หรืออาจนำไปย่อยสลายต่อด้วยความร้อนเพื่อผลิตพลังงาน การเปลี่ยนขยะพลาสติกในประเทศเป็นเชื้อเพลีงก็เป็นหนึ่งแนวทางที่ญี่ปุ่นนำร่องไปแล้ว หลังจากสร้างนวัตกรรมขนาดพกพาเพื่อเปลี่ยนพลาสติกเป็นพลังงานเพื่อใช้งานในครัวเรือน

แต่อย่างที่ตัวเลขชี้ว่าสัดส่วนของการรีไซเคิลมีแค่ 7% พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ โพลีเมอร์แบบยาง Elastomers Thermosets ขยะพลาสติกผสมก็ยังเอากลับมาทำใหม่ไม่ได้อยู่ดี

 

รีไซเคิลไม่ได้ 100% ไม่ต้องทำ ฝังไม่ได้ก็ไม่ต้องฝัง

 “คนส่วนใหญ่มักจะคิดเหมือน ๆ กันว่ามีพลาสติกบางประเภทที่รีไซเคิลไม่ได้และเป็นปัญหา แต่พลาสติกเหล่านั้นถ้าเราเอามันไปใช้ให้ถูกที่ถูกทางก็ไม่จำเป็นต้องจบลงที่การฝังกลบ” Sibele Cestari กล่าว

 พออ่านไปเจอประโยคนี้เลยเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เรากำลังทำไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหานี้ ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์หลายคนกำลังคิดค้นวิธีเร่งกระบวนการย่อยสลายพลาสติกให้เร็วขึ้น แต่อีกหนทางที่ Sibele สนใจคือการยกพลาสติกที่ย่อยไม่ได้กลับมาใช้งานบนดิน โดยเฉพาะด้านการก่อสร้าง เพราะสาระสำคัญของบทความงานวิจัยที่เธอทำบอกเราว่า “ขยะพลาสติก” สามารถใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างได้ และเป็นวัสดุในอุดมคติที่ผู้คนต้องการ เพราะทั้งทนทาน เชื่อถือได้ และยั่งยืน

วิธีการใช้งาน คือ การนำขยะพลาสติกไปพัฒนาสร้างเป็นนวัตกรรม ใช้พวกขยะพลาสติกผสมเป็นตัวตั้งพื้นฐานไปผสมและพัฒนาต่อเพื่อผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง เฉพาะตัวโปรเจกต์ของ Sibele ที่ทำอยู่ตั้งแต่ปี 2009 คือการนำขยะพลาสติกมาผสมกับวัสดุเหลือใช้ประเภทอื่น ๆ เช่น เศษวัสดุการเกษตรประเภทชานอ้อย กากกาแฟ ขยะคอนกรีต ฯลฯ แล้วมาผลิตเป็นอิฐ กระเบื้องหลังคา และองค์ประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อการก่อสร้างอื่น ๆ

อิฐก้อนต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นตัวต้นแบบของอิฐที่ทำจากพลาสติกซึ่งมีคุณสมบัติทั้งหนาและยืดหยุ่น สามารถใช้งานได้ในการก่อสร้าง Credit: Sibele Cestari

การทดลองเริ่มต้นจากการปรับคุณสมบัติของวัสดุให้เหมาะสำหรับการขึ้นรูปด้วยเครื่อง Rotomoulding (เครื่องหมุนเหวี่ยงสำหรับขึ้นรูปพลาสติก) โดยตอนนี้ตัวอย่างประเภทบล็อกอิฐที่ทำใช้พลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วน 25% ลองนำไปทดสอบวัสดุทางสากลแล้วถือว่าใช้งานได้ดีมาก แต่ต่อไปในอนาคตแน่นอนว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% 75% และ 100% ตามลำดับ

การใช้ขยะพลาสติกทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง Credit: Sibele Cestari

เรื่องความสวยงามของบล็อกอิฐจากขยะพลาสติกจากเดิม เธอพบว่าปัญหาอยู่ที่เวลาผสมด้วยกันทั้งหมดแล้วออกมาเป็นสีเทาหรือดำ ดังนั้นจะแก้ด้วยการผสมสีพลาสติกบริสุทธิ์หรือพลาสติกรีไซเคิลไว้ก่อน แล้วเททับบนบล็อกหลักอีกที

ถ้าใช้งานได้ดี อนาคตพลาสติกอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตสู่ความยั่งยืนได้ โลกเรายังเหมาะจะให้คนรุ่นต่อไปอยู่โดยไม่ต้องย้ายดาวไปไหน แต่ที่สำคัญนอกจากนักวิจัยและนักพัฒนาที่พยายามสร้างสรรค์วิธีมาช่วยโลกใบนี้แล้ว ก่อนโปรเจกต์จะสำเร็จเราก็อย่านิ่งเฉยกัน ยังต้องใช้พลาสติกให้น้อยลงและเริ่มต้นด้วยสิ่งสำคัญจากวินัยใกล้ตัวอย่างการแยกขยะให้ถูกต้อง เพราะนักวิจัย นักรีไซเคิลจะได้นำไปใช้งานต่อได้

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bbc.com/future/article/20200819-why-plastic-waste-is-an-ideal-building-material

Previous articleคนไทยเก่ง ไม่แพ้ชาติใดในโลก พบ 5 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างโดยไอเดียคนไทย จากโครงการวิจัยของ NSTDA ในงาน ACT FORUM ’20 DESIGN + BUILT
Next articleบีทีเอส กรุ๊ปฯ ปรับโฉมใหม่ “ธนาซิตี้ คันทรีคลับ” อาณาจักรแห่งการพักผ่อน
พร้อมโรงแรม ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน