บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด จ.ลำปาง ประสบปัญหาเศษขนไก่จากโรงเรือนหลุดเข้าไปบ่อรวบรวมน้ำเสีย ซึ่งเป็นบ่อพักเพื่อนำน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ รวมถึงอัตราการกวนตะกอนอินทรีย์ในบ่อหมักยังไม่ดีเท่าที่ควร เกิดชั้นฝ้าตะกอนบริเวณบนผิวน้ำของบ่อหมักแบบปิดไม่ใช้อากาศ เป็นผลให้การทำงานของจุลินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศภายในบ่อหมักไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ผลพลอยได้จากระบบ ได้แก่ ปริมาณก๊าซชีวภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และเนื่องจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่ติดตั้ง เป็นระบบขนาดใหญ่ ถึง 18,000 ลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการกวนตะกอนให้มีประสิทธิมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. เข้าไปแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการ โดยทำการปรับปรุงระบบกวนตะกอนในบ่อหมักย่อยน้ำเสีย รวมทั้งจะทำการติดตั้งเครื่องกวนผสมแบบเชิงกลที่ไม่ทำให้เกิดการเติมอากาศภายในบ่อหมักแบบอัตโนมัติ (PLC) แบบ Airlift เพื่อทำการกวนตะกอนภายในบ่อหมัก เพื่อให้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ไทย ให้มีการยกระดับธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง มีเงินหมุนเวียนในระบบและเกิดการจ้างงานในทุกพื้นที่ โปรแกรม ITAP สวทช. ภายใต้ กระทรวง อว. เป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพอันหนึ่งของรัฐบาลในการพัฒนาSME ไทย โดยปัจจุบัน ITAP ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการให้คำปรึกษาเชิงลึกที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มากกว่า 1,200 โครงการต่อปี ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถเข้าร่วมได้ทันทีเนื่องจากเปิดให้บริการทุกวันทำการ เปิดให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เข้าร่วมโครงการได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และลดต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบัน ITAP มีเครือข่ายทั่วประเทศ 19 แห่ง และมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 1,500 ราย โดย ITAP เครือข่าย ม.พะเยา เข้ามาเป็นเครือข่ายในปี 2561 ให้บริการ SME ไทยในพื้นที่ภาคเหนือ ปีละมากกว่า 50 ราย มีที่ปรึกษาเทคโนโลยี (ITA) ที่จะรับโจทย์จากผู้ประกอบการและช่วยสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เข้าไปช่วยเหลือบริษัทในโจทย์ต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหา การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ SME เข้มแข็งและเติบโตต่อไปได้รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยา มีหน้าที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญในภาควิชาการ ไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน และเชื่อมความต้องการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ กับงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้เชี่ยวชาญในสังกัดกระทรวง อว. เข้าไว้ด้วยกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือการพัฒนาแบบเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด เกิดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กับการพัฒนางานวิจัยเชิงนวัตกรรมของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความเหมาะสมสอดคล้อง และตอบสนองความต้องการในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น และจากการดำเนินงานของ ITAP เครือข่าย ม.พะเยา 3 ปีที่ผ่านมา สามารถสนับสนุนธุรกิจในระดับ SME ในการนำเทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ในหลายด้าน เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน นวัตกรรมอาหาร การพัฒนาเครื่องจักรเพื่อกระบวนการผลิต การส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร และ Smart Farm รวมแล้วไม่น้อยกว่า 150 โครงการ

ด้าน ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP ดร.ศตวรรษ ทนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า จากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ที่ต้องการแก้ไขปัญหา คือ เรื่องน้ำเสียของกิจการ ที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงไก่ ทีมผู้เชี่ยวชาญจึงได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนน้ำเสียและของเสียให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบพลังงานทดแทนได้ โดยการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในกิจการ ระบบบำบัดเสียน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการหมักย่อยน้ำเสียในระบบปิด และน้ำที่ผ่านการบำบัดจะสะอาดได้มาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญมีความพยายามที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น เช่น การออกแบบให้ระบบใช้พื้นที่ในการติดตั้งให้น้อยลง ใช้เงินลงทุนน้อยลง แต่ประสิทธิภาพการหมักย่อยสูงขึ้น การออกแบบพัฒนาให้ระบบสามารถรองรับน้ำเสียที่มีสภาวะแตกต่างกันมาก ๆ ได้ภายในระบบเดียว และการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสามารถผลิตก๊าซชีวภาพในปริมาณที่สูงขึ้น

ในส่วนผู้ประกอบการ นายชาญวิทย์ เวชชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน จึงได้ขอคำปรึกษาด้านเทคโนโลยีกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนกระทั่งได้มารู้จักกับ ITAP ผ่านผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมาก เพราะ ITAP มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น ช่วยบริษัทลดความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้มากขึ้นซึ่งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่ต้องการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไข่ไก่ที่ดีมีคุณภาพสู่ตลาดแล้ว บริษัทยังมุ่งพัฒนากิจการสู่ธุรกิจสีเขียว คือ ไม่สร้างมลพิษสู่ชุมชน และยังสามารถผลิตพลังงานทดแทนไว้ใช้ภายในกิจการเองได้ ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศหรือระบบก๊าซชีวภาพที่บริษัทได้ทำการติดตั้งไปนั้น สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของกิจการ ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและจำนวนแมลงวัน อีกทั้งยังสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์มได้ถึง 70% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในฟาร์ม นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ติดตามมาคือ บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร้ปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทไปในทางบวกทั้งสิ้น

Previous articleเอ็มเทค สวทช. ร่วมมือ บางจาก วิจัยและพัฒนาระบบการจัดการของเสียจากธุรกิจโรงกลั่นด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
Next articleที่สุดแห่งความมินิมัล ตั้งแต่ดีไซน์ไปจนถึงกลไกการทำงาน กับ Ishimok
นวัตกรรมประตูสัญชาติญี่ปุ่นสุดล้ำ ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท