ทีมงานจากนานาประเทศนำโดย แอร์บัส ดีเฟนส์ แอนด์ สเปซ (Airbus Defence and Space) แห่งเมืองฟรีดริชส์ฮาเฟิน ประเทศเยอรมนี ร่วมด้วยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีด้านการผลิตและวัสดุขั้นสูงเฟราน์โฮเฟอร์(Fraunhofer Institute for Manufacturing Technology and Advanced Materials: IFAM) แห่งเมืองเดรสเดิน ประเทศเยอรมนี มหาวิทยาลัยบอสตันแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และบริษัท อะเบนโกอา อินโนวาซิออน (Abengoa Innovación) แห่งเมืองเซวิลล์ ประเทศสเปน ประสบความสำเร็จในการทดลองผลิตออกซิเจนและโลหะจากฝุ่นละอองดวงจันทร์ หรือ ผิวดินดวงจันทร์จำลอง (Regolith) ด้วยกระบวนการที่แอร์บัสคิดค้นขึ้นที่เรียกว่า “ร็อกซี่ (Regolith to OXYgen and Metals Conversion: ROXY)” โดยแอร์บัสเชื่อว่ากระบวนการ ร็อกซี่ นี้ถือเป็นการปฏิวัติการค้นพบในห้วงอวกาศแห่งมนุษยชาติ

การค้นพบครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วหลังจากที่ใช้ระยะเวลาสองปีในการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งอยู่ในขณะที่กำลังทำการทดลองที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันเทคโนโลยีด้านการผลิตและวัสดุขั้นเฟราน์โฮเฟอร์ (IFAM) ออกซิเจนถูกสกัดจากตัวอย่างของฝุ่นละอองดวงจันทร์จำลอง สิ่งนี้เป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนั้นกระบวนการทดลองสามารถทำได้อย่างชัดเจนแล้ว ออกซิเจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใด ๆ ก็ตามในอวกาศ และวิธีการผลิตแบบร็อกซี่ที่เพิ่งคิดค้นขึ้นใหม่นี้สามารถสกัดฝุ่นละอองดวงจันทร์ได้โดยตรง ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ปฏิวัติเหนือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มนุษย์ประสบความสำเร็จบนพื้นผิวดวงจันทร์

“สิ่งนี้ถือเป็นการค้นพบที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก ที่จะช่วยให้เราเข้าใกล้ความจริงในการที่จะนำพาให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนดวงจันทร์เป็นเวลานาน” ฌอง-มาร์ค นาซร์ หัวหน้าฝ่ายระบบอวกาศของแอร์บัส กล่าว “ร็อกซี่เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเมื่ออุตสาหกรรมและนักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าของโลกจับมือกัน จะสามารถสร้างคุณูปการที่จับต้องได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนาการสำรวจและการค้นพบแห่งโลกอนาคตโดยไม่มีที่สิ้นสุด”ร็อกซี่ทำให้เครื่องแปลงฝุ่นละอองผิวดินดวงจันทร์เป็นออกซิเจนและโลหะนี้มีดีไซน์ที่เล็ก เรียบง่าย กะทัดรัด และคุ้มค่าต่อต้นทุน และยังเหมาะอย่างยิ่งต่อการรองรับภารกิจการสำรวจ การค้นพบต่าง ๆ ในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องขนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ จากโลกไปด้วย เว้นแต่ตัวเครื่องปฏิกรณ์ร็อกซี่เครื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นหัวใจหลักของห่วงโซ่คุณค่าแบบบูรณาการ (Integrated Value Chain) โดยใช้การผลิตโดยเติมฝุ่นหรือดินเข้าไปทีละชั้น (Additive Layer Manufacturing) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ “ผลิตบนดวงจันทร์ (Made on the Moon)” ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโลหะ โลหะผสม และออกซิเจน เมื่อผสมกับน้ำแข็งดวงจันทร์แล้ว ผงโลหะจากร็อกซี่นี้ยังสามารถผลิตแม้กระทั่งเป็นเชื้อเพลิงจรวดได้อีกด้วย

เมื่อใช้งานบนโลก ร็อกซี่เปิดมิติใหม่สู่การช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตโลหะได้อย่างเต็มที่ เราจะเห็นได้ว่าด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ในปัจจุบัน การผลิตโลหะทั่วโลกเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยการผลิตเหล็กคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดทั่วโลก โลหะหลายชนิดเกิดจากกระบวนการการปล่อยก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbons: PFCs) ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมออกมาในปริมาณมาก เนื่องจากร็อกซี่มีแนวคิดสำคัญคือเป็นกระบวนการที่ปราศจากการปล่อยมลพิษซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยลง เป็นแรงสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของวิธีการที่เทคโนโลยีด้านอวกาศนั้นสามารถช่วยให้ชีวิตบนโลกดีขึ้น

Previous articleชมแนวคิดการออกแบบพื้นที่ FORUM “OneMoreThing Stage”
Next articleกลุ่มดุสิตธานี รุกญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ภายในปี 66
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท