วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดตึกสูงมากกว่า 500 แห่งในกรุงเทพมหานครเสี่ยงต่อไฟไหม้ เหตุใช้ฉนวนกันความร้อนแบบติดไฟง่าย ขณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมหารือในเรื่องมาตรการป้องกัน หวั่นเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ซ้ำรอย

การสร้างตึกสูงเมื่อ 20 ปีก่อน นิยมใช้โพลีเอทิลีน (พีอี) (Polyethylene) เป็นไส้ตรงกลางของเปลือกอาคาร เพราะติดตั้งง่าย สวยงาม ที่สำคัญยังราคาถูก เมื่อเทียบกับไส้กลางทำมาจากสารหน่วงไฟ หรือ เอฟอาร์ (Fire Retardant) โดยเลขาธิการ วสท. ยอมรับว่าความนิยมการใช้พีอี ในช่วงอดีตที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากยังไม่ทราบว่าการใช้พีอีจะส่งผลกระทบด้านความปลอดภัย จึงทำให้ตึกจำนวนมากติดตั้งด้วยฉนวนกันความร้อนประเภทนี้ ที่คาดว่าว่ามีจำนวนมากกว่า 500 อาคารในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นสำนักงาน โรงแรม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ โรงพยาบาลและโรงเรียนบางแห่ง

ซึ่งการใช้อีพีบนตึกสูง หากเกิดไฟไหม้แล้วจะเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีไฟไหม้บนอาคารไซเบอร์เวอร์ทาวเวอร์ ที่ใช้เวลาเพียง 15 นาที เท่านั้นไฟก็ไหม้ลุกลามไปทั่วตึก จากเหตุนี้จึงทำให้ในช่วงหลังสถาปนิกของไทยเลิกใช้อีพี แต่อาจจะมีบางส่วนที่ยังใช้โดยเฉพาะกลุ่มอาคารไม่สูงมาก เช่น โชว์รูมรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากเหตุผลดังกล่าว ภายหลังเหตุไฟไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ก็ได้เป็นผลให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยเกิดความตื่นตัวในมาตรการด้านความปลอดภัยของการก่อสร้างอาคารมากขึ้น เนื่องจากมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับอาคารของอังกฤษได้รับการยอมรับว่าได้มาตรฐานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรมจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

โดยเลขาธิการ วสท. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะถึงเวลาที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในไทย จะหารือกันเพื่อเริ่มต้นการยกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยจะกำหนดประเภทของสารที่ใช้เป็นฉนวนกันความร้อน พร้อมกับการจำกัดระดับความสูงอาคาร หากว่าจะใช้ฉนวนกันความร้อนชนิดติดไฟง่าย สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มีความตระหนักในเรื่องนี้ และเห็นว่าขณะนี้เป็นจังหวะเหมาะสมที่จะเสนอแนะให้มีการยกร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพิ่มเติมเพื่อบังคับให้ผู้ออกแบบอาคารสูง ที่ต้องการใช้พีอีเป็นฉนวนกันความร้อน สามารถใช้ได้ในระดับความสูงจำกัด

 

Source : bbc

Previous articleFlower Pavilion ผลงานตกแต่งสุดเจ๋ง ที่เติมแต่งด้วยพันธุ์ไม้ ใจกลางเมืองลียง
Next articleอาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค ออฟฟิศใหม่ย่านบางนา ที่ออกแบบมาเพื่อชาวออฟฟิศอย่างแท้จริง