ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยผลการสำรวจ 10 อันดับ “บริษัทพัฒนาที่ดิน ใหญ่สุดในประเทศ” โดยทั้ง 10 บริษัท มีจำนวนโครงการรวมกัน 1,626 โครงการ หรือ 599,756 หน่วย เป็นมูลค่า 1,691,784 ล้านบาท หรือตกหน่วยละ 2.821 ล้านบาท แต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 369 หน่วย

สำหรับการจัดอันดับ 10 บริษัทพัฒนาที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีดังนี้:

1บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

พัฒนาทั้งหมดรวม 492 โครงการ รวมทั้งหมด 178,795 หน่วย รวมมูลค่า 355,321 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 1.987 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 363 หน่วย บริษัทนี้นับเป็น “เบอร์หนึ่งตลอดกาล” ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน  โดยเฉลี่ยแล้วราคาที่อยู่อาศัยของบริษัทนี้ขายในราคาที่ย่อมเยากว่าบริษัทอื่น คือเฉลี่ยหน่วยละเพียง 1.987 ล้านบาทเท่านั้น เพราะพัฒนาตั้งแต่ห้องชุดราคาถูกจนถึงแพง แทบทุกกลุ่มและระดับราคา

2บมจ.แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเม้นท์

พัฒนาทั้งหมดรวม 104 โครงการ รวมทั้งหมด 107,216 หน่วย รวมมูลค่า 142,387 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 1.328 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 1,031 หน่วย บริษัทนี้เป็น “เจ้าตลาดห้องชุด” หรือ “Condo King” ในประเทศไทย โดยราคาขายต่ำกว่าของ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท เพราะมุ่งเน้นสร้างห้องชุดราคาปานกลางค่อนข้างถูกเป็นสำคัญ

3บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

พัฒนาทั้งหมดรวม 218 โครงการ รวมทั้งหมด 61,538 หน่วย รวมมูลค่า 278,152 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 4.520 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 282 หน่วย  บริษัทแห่งหนึ่งเคยเป็น “เบอร์ 1” ในอดีต แต่โดยที่เน้นเฉพาะที่อยู่อาศัยระดับราคาสูง จึงทำจำนวนหน่วยไม่มาก แต่อันดับหากเรียงตามระดับราคา อาจถือได้ว่าเป็นบริษัทอันดับที่ 2

4บมจ.แสนสิริ

พัฒนาทั้งหมดรวม 237 โครงการ รวมทั้งหมด 67,446 หน่วย รวมมูลค่า 240,710 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 3.569 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 285 หน่วย  บริษัทนี้ก็จับตลาดระดับบนเช่นเดียวกับ บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์  อาจถือเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดอันดับที่ 3 ในแง่มูลค่าโครงการ

5บมจ.ศุภาลัย

พัฒนาทั้งหมดรวม 167 โครงการ รวมทั้งหมด 63,984 หน่วย รวมมูลค่า 183,865 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 2.874 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 383 หน่วย  บริษัทนี้ก็สร้างสินค้าราคาปานกลางเป็นหลัก

6บมจ.เอ.พี. (ประเทศไทย)

พัฒนาทั้งหมดรวม 159 โครงการ รวมทั้งหมด 47,449 หน่วย รวมมูลค่า 192,479 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 4.057 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 298 หน่วย  สินค้าของบริษัทนี้จึงเป็นสินค้าระดับปานกลางค่อนข้างสูง

7บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์

พัฒนาทั้งหมดรวม 161 โครงการ รวมทั้งหมด 42,911 หน่วย รวมมูลค่า 185,000 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 4.311 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 267 หน่วย  สินค้าของบริษัทนี้ก็เป็นสินค้าระดับปานกลางค่อนข้างสูงเช่นกัน

8บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค

พัฒนาทั้งหมดรวม 88 โครงการ รวมทั้งหมด 30,417 หน่วย รวมมูลค่า 113,870 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 3.744 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 346 หน่วย  บริษัทนี้มุ่งพัฒนาสำหรับที่อยู่อาศัยราคาปานกลางเป็นสำคัญ

9บมจ.อนันดาดีเวลลอปเม้นท์

พัฒนาทั้งหมดรวม 49 โครงการ รวมทั้งหมด 29,227 หน่วย รวมมูลค่า 106,057 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 3.629 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 596 หน่วย  บริษัทนี้มุ่งพัฒนาสำหรับที่อยู่อาศัยราคาปานกลางเป็นสำคัญเช่นกัน

10บมจ.ปริญสิริ

พัฒนาทั้งหมดรวม 63 โครงการ รวมทั้งหมด 14,873 หน่วย รวมมูลค่า 41,787 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 2.810 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ย 236 หน่วย

 

ด้าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ในกรณีของ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท นั้น มีการพัฒนามากของการเคหะแห่งชาติ ทั้งในแง่ของจำนวนหน่วยและมูลค่าโครงการ (ทั้งนี้ ไม่นับรวมบ้านเอื้ออาทร) โดยรัฐบาลยังได้ภาษีมหาศาลจากบริษัทนี้ และบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ รัฐบาลไม่ต้องควักเงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุน อันที่จริงรัฐบาลไม่พึงสร้างบ้านประชารัฐเพราะภาคเอกชนสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยอย่างพอเพียงอยู่แล้ว ไม่เคยมีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่เคยมีปัญหาว่าราคาที่อยู่อาศัยแพงเกินกว่าที่ประชาชนจะหาซื้อได้ รัฐบาลจึงไม่ควรไปสร้างเอง ปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการจะดีกว่า”

Previous articleปิดถนนพหลโยธิน หน้าเซ็นทรัลลาดพร้าว-หอวัง 1 เลน สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว
Next articleเผยผลประกอบการ แพลทินัม กรุ๊ป ทะลุ 344 ล้านในครึ่งปีแรก
เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการร้านค้า ขยายผลกำไร
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม