ด้วยความพยายามของนักวิจัยทั้งหลายที่พยายามวิจัย คิดค้น และพัฒนานวัตกรรม วัสดุทดแทน หรือวัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ขึ้นมาให้เราได้ใช้งานอยู่เสมอ วันนี้จึงขอนำไอเดีย นวัตกรรมสีเขียว ที่น่าสนใจมาเป็นไอเดียสร้างแรงบันดาลใจกับกลุ่มผู้อ่านกันบ้าง


การใช้กระดูกและเปลือกไข่แทนคอนกรีตและเหล็ก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ศึกษาการใช้วัสดุทดแทนอย่างกระดูกและเปลือกไข่มาใช้ในงานก่อสร้าง ทดแทน
คอนกรีตและเหล็ก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าคอนกรีตและเหล็กนั้นต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิตอย่างมหาศาล อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 10% สู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงได้ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการศึกษาวิจัยการใช้กระดูกและเปลือกไข่แทน

Futuristic-Skyscrapers-1020x610
© eVolo

เริ่มจากกระบวนการสร้างกระดูกและเปลือกไข่เทียมในห้องแล็บ (ซึ่งวัสดุนี้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้เช่นกัน) โดยโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับวัสดุ และยังศึกษาการนำคุณสมบัติทางธรรมชาติของกระดูกมาใช้ร่วมกับวัสดุนี้ด้วย อย่างไรก็ตามวัสดุดังกล่าวคงยังไม่สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้จริงในเร็ววันนี้ เนื่องจากทางทีมวิจัยยังคงใช้คอลลาเจนจากสัตว์ในการสร้างกระดูกและเปลือกไข่ เนื่องจากยังไม่สามารถหาวิธีใช้วัสดุสังเคราะห์ อาทิ โพลิเมอร์หรือโปรตีนสังเคราะห์แทนได้ ซึ่งถ้าหากงานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จและนำมาก่อสร้างจริงได้ เราก็จะมีวัสดุทางเลือกใหม่ ๆ ที่ช่วยรักษาโลกของเราได้มากทีเดียว

Via: inhabitat.com/cambridge-researchers-are-growing-bone-for-greener-buildings by Lacy Cooke

‘Sprint’ แผงพลังงานแสงอาทิตย์สุดเบา

เดี๋ยวนี้ถ้าคิดจะสร้างอาคารสีเขียว หนึ่งในวัสดุที่ขาดไม่ได้ก็คือแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และล่าสุดบริษัท Beamreach Solar ได้พัฒนาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีชื่อว่า ‘Sprint’ ซึ่งมาพร้อมคุณสมบัติเด่นที่สามารถสร้างพลังงานได้มากกว่าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ราคาถูก และมีน้ำหนักเบามาก จึงสามารถติดตั้งได้ง่ายให้เสร็จได้ภายใน 2 นาทีเท่านั้น เนื่องจากระบบ Racking ได้ถูกรวมเข้าไว้ในแผงเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้สามารถติดตั้งได้เร็วกว่าการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์โดยทั่วไปถึง 5 เท่า

ขณะนี้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ Sprint สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ 320 วัตต์ สามารถทนทานต่อแรงลมได้ 115 MPH และรองรับน้ำหนักได้สูงถึง 5,400 Pa หรือราวๆ 113 ปอนด์ต่อสแควร์ฟุต จึงนับว่าเป็นทางเลือกใหม่ของอาคารสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่มีระบบหลังคาที่ไม่สามารถรองรับน้ำหนักแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบเดิม ๆ ได้ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการติดตั้ง ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และที่แน่ ๆ ช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้มากทีเดียว

Beamreach-solar-Sprint-panels-3

Via: inhabitat.com/super-lightweight-solar-panels-for-flat-roofs-install-in-under-two-minutes by Tafline Laylin

‘Green Blade’ วัสดุทางเลือกใหม่ทดแทนไม้

บริษัทใน Martinique “FIBandCo” ได้พัฒนาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยการนำลำต้นของต้นกล้วยมาแปรรูปให้เป็นแผ่นไม้วีเนียร์ธรรมชาติที่เรียกว่า“Green Blade” เพื่อใช้เป็นวัสดุทางเลือกในการตกแต่งบ้าน ทดแทนการใช้ไม้ ซึ่งข้อดีก็คือ ต้นกล้วยสามารถเจริญเติบโตเต็มที่ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น ซึ่งรวดเร็วกว่าต้นไม้ชนิดอื่นๆ จึงช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งยังผลิตในโรงงานที่ใช้ไฟฟ้าจากแผงพลังงาน
แสงอาทิตย์และในกระบวนการผลิตก็ไม่ต้องอาศัยน้ำหรือกาวแต่อย่างใดเลย จึงนับว่าเป็นนวัตกรรมยั่งยืนที่ดูดีมีสไตล์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Green-Blade-1020x610

Via: inhabitat.com/green-blade-banana-fiber-panels-provide-a-stylish-sustainable-alternative-to-wood by chloe25

โคมไฟผลิตจากขวดไวน์และวัสดุเหลือใช้

ทุก ๆ ปี ขวดไวน์และขวดเหล้า รวมถึงไม้เนื้อแข็งจำนวนไม่น้อยจะถูกนำไปทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ที่สุสานขยะหรือที่ฝังกลบมูลฝอย ด้วยเหตุนี้บริษัทในซีแอตเติล “ChicWatts” จึงเกิดไอเดียในการนำวัตถุเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยการนำกลับมาทำเป็นโคมไฟแขวนดีไซน์เก๋ เท่ไม่ซ้ำแบบใคร ภายใต้ชื่อว่า “Mother Nature meets Steampunk” ด้วยการผสมผสานวัสดุที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นท่อพีวีซี, ไม้ หรือโลหะ อีกทั้งยังสามารถ
ออกแบบได้ตามความต้องการของลูกค้าได้ด้วย ขณะนี้โคมไฟดังกล่าวได้วางจำหน่ายแล้วในอเมริกาและเอเชีย

ChicWatts1-889x587
© ChicWatts Facebook Page

Via: inhabitat.com/chicwatts-upcycles-pipes-and-wine-bottles-into-edgy-industrial-lighting/ by chicwatts

ถนนไฟฟ้าแห่งแรกของโลก

สวีเดนได้ทดลองเปิดใช้งานถนนไฟฟ้าสายแรกของโลกแล้ว ซึ่งถนนสายนี้ถูกสร้างขึ้นโดยความร่วมมือของทางการสวีเดนกับบริษัท Sonia บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ของสวีเดน เป็นถนนที่มีความยาวกว่า 2 กิโลเมตร มีเลนที่ติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าไว้ที่สายไฟด้านบนเพื่อให้รถบรรทุกที่วิ่งผ่านสามารถใช้พลังงานจากไฟฟ้าได้ (คล้ายกับ Tram ระบบรถรางไฟฟ้า เพียงแต่ไม่ต้องใช้ราง สามารถวิ่งไปบนถนนได้เลย) โดยรถบรรทุกที่จะใช้ไฟฟ้าจากถนนเส้นนี้ได้นั้นจะต้องเป็นรถไฮบริดที่ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อไฟฟ้า ซึ่งเมื่อรถแล่นผ่านถนนไฟฟ้ามันจะใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับสายไฟฟ้าด้านบน จากนั้นระบบขับเคลื่อนของรถจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ และเมื่อหมดระยะทาง 2 กิโลเมตร การขับเคลื่อนของรถก็จะเปลี่ยนกลับมาเป็นแบบไฮบริดเหมือนเดิม

การทดลองใช้ถนนเส้นนี้จะดำเนินไปจนถึงปีค.ศ. 2018 เพื่อประเมินผลการทดสอบว่าเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าผลเป็นไปตามที่คาดหมายก็จะมีการขยายเส้นทางถนนไฟฟ้านี้ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะจะช่วยประหยัดพลังงานน้ำมันและปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้อย่างมาก

Sweden-Electric-Road
© Wikimedia Commons.com
Sweden-Electric-Road-Trafikverket
© Wikimedia Commons.com

Via: inhabitat.com/sweden-opens-first-two-kilometer-test-stretch-of-electric-road/
by Lacy Cooke

นิตยสาร Builder Vol.34 AUGUST 2016

Previous articleอาคารสังเกตการณ์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
Next articleเสี้ยวความทรงจำ ณ พระจุฑาธุชราชฐาน
หนึ่งฤทัย คาทุสเซฟสกี้
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตนัก Marketing ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักเขียน และนักแปลอิสระ ให้กับนิตยสารและบริษัทต่าง ๆ