การทำงานทุกสาขาอาชีพในวันนี้ ถ้าคุณทำโดยคิดงานเพียงชั้นเดียวแบบเดิม ๆ ไม่คิดถึงอนาคตข้างหน้า โอกาสตันในสายงานถือว่าสูงมาก เพราะโลกจะส่งคนที่เจ๋งกว่า คิดลึกกว่าขึ้นมาแย่งงานคุณไป เช่น ถ้ามือถือที่เราใช้อยู่วันนี้คนสร้างคิดแบบเดิม  เราคงได้เห็นมากสุดลวดลายและความสวยของโทรศัพท์กดปุ่มแบบอนาล็อกเท่านั้น และไม่มือถือแบบสมาร์ตโฟนไว้ให้ใช้แบบนี้

ไม่เว้นแม้แต่วงการสถาปนิกของเราที่ต้องแข่งขันคิดเพื่ออนาคตด้วย เพราะของทุกอย่างที่เราสร้าง มันมาพร้อมกับความคาดหวังของคนที่ซื้อ ทั้งเรื่องฟังก์ชันและอายุการใช้งาน คงไม่มีใครคิดจะสร้างบ้านทั้งหลังเพื่อทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ภายใน 2-3 ปีหรอก จริงไหม ดังนั้น นวัตกรรมจึงกลายเป็นหนึ่งใน Key man แห่งอนาคตสำหรับการออกแบบและใช้งาน

วันนี้ BuildersNews ขอแนะนำนวัตกรรมแห่งปี 2019 ที่สามารถช่วยได้เรื่องการสร้างและออกแบบบ้านอย่างยั่งยืน โดยตอบโจทย์ความเป็น Universal Design เป็นที่อยู่ที่ใครก็สามารถใช้งานพื้นที่ได้เต็มที่อย่างมีความสุขและปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ก็ตาม

DESIGN FOR COUPLE

ตัวแรกที่นำมาฝากเป็นการออกแบบที่เข้ากับเทศกาลวันแห่งความรักวันนี้พอดี สถาปนิกส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปดูภาพรวมที่ไกลตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน มลพิษ ฯลฯ ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ผิดอะไร แต่เรื่องเล็ก ๆ ที่จริง ๆ ก็ไม่เล็กและคาดไม่ถึงอย่างความสัมพันธ์ก็กำลังจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่ยั่งยืน เพราะแนวโน้มในอนาคตจะมีคนโสดเพิ่มขึ้นขณะที่คนมีคู่เองก็ต้องประคับประคองชีวิตให้อยู่กันได้ยาว ๆ

กรณีชิ้นนี้เน้นเรื่องคนมีคู่ก่อน ใครที่อยู่ในไลน์การตกแต่งภายในหรือ Interior ดีไซน์ ลองมาดูโปรดักส์ชิ้นนี้จะพบความว้าว เพราะดีไซเนอร์จาก Ford เขาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง “เตียงนอน” มาช่วยลดปัญหาการหย่าร้าง

แค่เตียงแกรนด์หรือฟูกนุ่มวันนี้ก็อาจจะยังไม่พอ เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องพฤติกรรมการนอนบนเตียงที่เป็นปัญหา แต่สำหรับเตียงหลังนับว่านี้มีคุณสมบัติพิเศษ ชาวสถาปนิกคนไหนที่ออกแบบให้คนที่มีแนวโน้มจะอยู่เป็นครอบครัว ลองเอาไอเดียของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ไปเป็นหนึ่งในการตกแต่งหรือพัฒนาต่อได้ เพราะเขาผสมผสานไอเดียเรื่องการขับคร่อมเลนรถ ระบบเซ็นเซอร์ มามิ๊กซ์กับการผลิตเตียงเพื่อกลบ blind spot ที่มองไม่เห็นอย่างเรื่องการนอนเบียดกันบนเตียง โดยใช้เซนเซอร์ใต้เตียงตรวจจับแรงกดของวัตถุที่อยู่บนเตียง คือคน 2 คน แล้วคำนวณหาจุดกึ่งกลาง จากนั้นใช้สายพานที่อยู่บนผิวเตียงจะทำงานเลื่อนจัดตำแหน่งของคนให้อยู่จุดกลางเตียงเสมอ ทีนี้ก็ไม่มีใครต้องกลัวนอนตกเตียงจนทะเลาะกันอีกต่อไป

DESIGN FOR ELDER

ค่าเฉลี่ยอายุของคนเรานับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ ดังนั้น เมื่อมนุษย์เรามีชีวิตอยู่กันไปนาน ๆ สังขารก็ต้องเริ่มเสื่อม ไม่ฟิตเหมือนตอนเด็กเป็นธรรมดา แล้วพอเราต้องอยู่อาศัยในบ้านยาว ๆ เป็น 10-20 ปี หรือทั้งชีวิต เนื่องจากค่าที่มันแพงจะให้ไปซื้อก็ลำบาก การสร้างฟังก์ชันบ้านให้ใช้ได้นานถึงตอนที่เริ่มเดินไม่ไหวก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ

(Credit Photo: https://airbnb.design/values-driven-design/)

นี่คือตัวอย่างจาก Airbnb ที่ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์เพื่ออนาคตไว้ สังเกตจากรูปเราจะเห็นได้ว่าเขาเน้นเก็บ pain point ที่กระทบกับการใช้งานจริงนำมาปรับใช้ในการออกแบบ ทั้งระดับความสูงของโต๊ะที่ได้รับการออกแบบให้พอดีกับความสูงของรถเข็น เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นหรือผู้พิการสามารถใช้งานได้ระดับพอดี สะดวก ตลอดจนช่องว่างระหว่างขาโต๊ะกับตัวโต๊ะที่คำนวณไว้อย่างดีให้สามารถเหลือช่องว่างให้ช่วงล่างของรถเข็นสามารถสอดเข้าไปได้โดยไม่ชน รับกันได้พอดี ไม่อึดอัด

(Credit photo: https://www.scgbuildingmaterials.com/th/CAMPAIGN/SCGElderCare.aspx)

นอกจากนี้เรื่องวัสดุกันลื่นอย่างพื้น ที่ช่วยลดและซับแรงกระแทก ก็เป็นอีกนวัตกรรมแห่งอนาคตที่น่าสนใจ เพราะอุบัติเหตุส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุมักเกิดจากการลื่นล้ม พื้นประเภท Vinyl Shock Absorption Floor หรือ พื้นลดแรงกระแทก ที่มีวัสดุชั้นโฟมด้านบนจึงช่วยลดความรุนแรงจากเหตุการณ์เหล่านั้นได้ แถมยังทำความสะอาดได้ง่ายและคงความสวยงามของการตกแต่งเหมือนเดิม แต่งานนี้จะเรียกว่าใช้เพื่อคนสูงวัยอย่างเดียวคงไม่ใช่ เพราะเด็กเล็ก ๆ ที่เกิดจากการขยายของครอบครัว หรือแม้แต่เราเองก็ได้ประโยชน์จากส่วนนี้เช่นกัน ชิ้นนี้มีวางขายแล้วในบ้านเรา สถาปนิกคนไหนอยากลองไปดูไว้ประยุกต์ใช้ในการออกแบบก็ Search เข้าไปดูกันได้ที่ SCG Eldercare Solution

DESIGN FOR DISABILITY

ไม่ว่าวัสดุจะล้ำแค่ไหน แต่ Texture หรือผิวสัมผัสคือความโดดเด่นที่เข้ามามีบทบาทกับการออกแบบมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยที่มีความหลากหลายในสังคมอย่างผู้ทุพพลภาพ เช่น คนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ทุพพลภาพเรื่องการเคลื่อนไหว ฯลฯ การออกแบบโดยใช้วัสดุเพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตและสร้างความปลอดภัยจึงมีบทบาทมากขึ้น

(Credit Photo: Architizer)

แล้วส่วนไหนที่จะสร้าง texture ได้บ้าง? อันที่จริงก็สร้างได้แทบทุกส่วนของบ้าน ยกตัวอย่าง Hazelwood School โรงเรียนเพื่อผู้ทุพพลภาพด้านการมองเห็นและการได้ยิน ได้สร้างโปรเจกต์ตกแต่งภายในโดยได้ Alan Dunlop Architect Limited เป็นผู้สร้าง รูปแบบการตกแต่งภายในติดตั้งผนังใช้วัสดุที่มี Texture (ผิวสัมผัส) เมื่อเด็ก ๆ สัมผัส รับรู้ความแตกต่างแล้ว เขาจะสามารถใช้ประโยชน์จากมัน นำประสาทสัมผัสมาช่วยนำทางการเดินทางผ่านวงกตของอาคารไปยังสถานที่ที่ต้องการได้ นับว่าเป็นการออกแบบที่ท้าทายสถาปนิกเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี

ทั้ง 3 อย่างนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ของนวัตกรรมที่ทำให้เห็นว่า นอกจากเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญกว่าคือความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายคนที่อยู่อาศัยด้วย เพราะเด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ผู้ใหญ่เองก็จะเป็นคนแก่ในวันหน้า และสังคมก็ยังมีพื้นที่สำหรับคนทุพพลภาพเพื่อความเท่าเทียมด้วย ยังไงก็อย่าลืมคิดกันให้ดีก่อน วางแผนทำงานให้มีไดนามิกเรื่องฟังก์ชันการใช้งานเพื่อเพิ่มคุณค่าทางความคิดและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยด้วย จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

อ้างอิง : https://architizer.com/projects/hazelwood-school/

https://www.scgbuildingmaterials.com/th/LivingIdea/Maintenance/Innovation-for-Elderly-People-by-SCG-Eldercare.aspx

https://airbnb.design/values-driven-design/

Previous articleTLSC แผงโซลาร์ไสนวัตกรรมของเล่นใหม่สถาปนิก ติดแทนกระจกเพื่อรักษ์โลก
Next article“กระเบื้อง” วัสดุแก้ความจำเจข้ามกาลเวลาของสถาปนิก ที่มีรูปแบบให้เลือกมากกว่าเซรามิก